เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 6. อุปาลิเถราปทาน
[569] (พระพุทธเจ้าตรัสว่า)
ไฟย่อมไม่เกิดในน้ำ พืชย่อมไม่งอกบนแผ่นหิน
กิมิชาติ1 ย่อมไม่เกิดในยาพิษ ฉันใด
ความโกรธย่อมไม่เกิดในพระพุทธเจ้า ฉันนั้น
[570] แผ่นดินไม่หวั่นไหว ฉันใด
พระพุทธเจ้าใคร ๆ ก็ให้กำเริบไม่ได้ ฉันนั้น
ทะเลประมาณมิได้ ฉันใด
พระพุทธเจ้ามีพระคุณประมาณมิได้ ฉันนั้น
และอากาศไม่มีที่สุด ฉันใด
พระพุทธเจ้ามีพระคุณไม่มีที่สุด ฉันนั้น
[571] พระพุทธเจ้าทั้งหลายฝึกฝนตนแล้ว
มีความเพียรมาก มีการงดโทษให้แก่ผู้อื่นและมีตบะ
ท่านผู้มีความอดทนและมีการอดโทษให้ แก่ผู้อื่น
จะไม่มีการลุอำนาจอคติ
[572] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้นกล่าวดังนี้แล้วได้บรรเทาความเร่าร้อน
เหาะขึ้นไปบนท้องฟ้าต่อหน้ามหาชน ในครั้งนั้น
[573] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร2
เพราะกรรมนั้น ข้าพระองค์จึงได้เข้าถึงภาวะที่เลวทราม
ล่วงเลยชาตินั้นมาเข้าสู่นคร(คือนิพพาน)ซึ่งไม่มีภัย
[574] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก แม้ในครั้งนั้น
พระสยัมภูพุทธเจ้าเห็นข้าพระองค์ถูกไฟแผดเผาอยู่

เชิงอรรถ :
1 กิมิชาติ หมายถึงสัตว์จำพวกหนอน
2 อรรถกถาเป็น ธีราติ ธีร ธิติสมฺปนฺน (ขุ.อป.อ. 1/573/352) ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นปราชญ์ (เป็นคำร้อง
เรียกที่พระอุบาลีเรียกพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้เล่าประวัติในอดีตของตนมาแล้ว)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :87 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 6. อุปาลิเถราปทาน
(แต่)ดำรงอยู่ด้วยดี จึงทรงบรรเทาความเร่าร้อนให้
ข้าพเจ้าจึงทูลขอพระสยัมภูงดโทษให้1
[575] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก แม้ในวันนี้
พระผู้มีพระภาคทรงช่วยข้าพระองค์ผู้ถูกไฟ 3 กอง2แผดเผาอยู่
ให้ถึงภาวะสงบเย็น และทรงช่วยดับไฟ 3 กองให้แล้ว
[576] ขอให้ท่านทั้งหลายผู้เงี่ยโสตสดับ จงตั้งใจฟังข้าพเจ้ากล่าว
ข้าพเจ้าจะบอกประโยชน์แก่ท่านทั้งหลาย
โดยประการที่ข้าพเจ้าได้เห็นบท3แล้ว
[577] ข้าพเจ้าดูหมิ่นพระสยัมภูพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้มีจิตสงบ มีจิตตั้งมั่น
เพราะกรรมนั้น ในปัจจุบันนี้
จึงมาเกิดในชาติตระกูลต่ำ
[578] ท่านทั้งหลายอย่าได้พลาดขณะ4ไปเลย
เพราะเหล่าสัตว์ผู้ล่วงเลยขณะไปย่อมเศร้าโศก
ขอท่านทั้งหลายพึงพยายามในประโยชน์ตนเถิด
ขณะท่านทั้งหลายให้สำเร็จแล้ว
[579] พระผู้มีพระภาคตรัสบอกยาสำรอกแก่บุคคลบางพวก
ยาถ่ายแก่บุคคลบางพวก ยาพิษร้ายแรงแก่บุคคลบางพวก
และยารักษาแก่บุคคลบางพวก

เชิงอรรถ :
1 ฉบับเก่าประธานของประโยคคือ ตฺวํ (คือ สัพพนาม แทน คำว่า ภควา ซึ่งพระอุบาลี กำลังกราบทูลอยู่)
ดูตามความแล้ว หมายถึงพระปัจเจกพุทธเจ้าในอดีต และอรรถกถาก็ขึ้น ปจฺเจกพุทฺโธ เป็นประธาน
2 ไฟ 3 กอง หมายถึงไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ หรือไฟนรก ไฟในเปรตวิสัยและไฟในสังสารวัฏ
(ขุ.อป.อ. 1/575/353)
3 บท ในที่นี้หมายถึงพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. 1/576/353)
4 ขณะในที่นี้ หมายถึงขณะเป็นที่พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น (ขุ.อป.อ. 1/578/353)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :88 }