เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 6. อุปาลิเถราปทาน
[516] ธรรมแม้นั้น คือ สุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์
อัปปณิหิตวิโมกข์ และผล 4 ทั้งปวง
ข้าพระองค์ก็ได้บรรลุแล้ว
ภาณวารที่ 2 จบ

[517] ข้าพระองค์ปรารถนาคำสอนของพระองค์นานจนนับกัปไม่ได้
ข้าพระองค์ได้บรรลุประโยชน์นั้นแล้ว
ทั้งได้สันติบท1 อันยอดเยี่ยมตามลำดับ
[518] ข้าพระองค์ถึงความสำเร็จในวินัย
เป็นเหมือนภิกษุผู้แสวงคุณผู้มีชื่อเสียง
ไม่มีภิกษุรูปอื่นจะเสมอเหมือนข้าพระองค์
ข้าพระองค์ทรงจำคำสั่งสอนไว้ได้
[519] ในวินัยปิฎกทั้งสิ้นนี้ คือ ในวินัย ในขันธกะ2
ในปริจเฉท 3 (คือ ในสังฆาทิเสส 3 หมวด
และปาจิตตีย์ 3 หมวด)3

เชิงอรรถ :
1 สันติบท หมายถึงพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. 1/517/341)
2 วินัย หมายถึงอุภโตวิภังค์, ขันธกะ หมายถึงมหาวรรคและจุลวรรค (ขุ.อป.อ. 1/519/341)
3 ติกสังฆาทิเสส อาบัติสังฆาทิเสส 3 หมวด เป็นข้อกำหนด 3 ประการของพระวินัยธร ผู้จะตัดสินอธิกรณ์
จะต้องตรวจดูว่าต้องอาบัติสังฆาทิเสส ในข้อกำหนดไหน ใน 3 ประการนั้น เช่น นางภิกษุณี เรียกนาง
ภิกษุณีอื่นที่ถูกภิกษุณีสงฆ์ยกออกจากหมู่โดยชอบธรรม ชอบด้วยวินัย ชอบด้วยสัตถุศาสน์ กลับเข้าหมู่
เช่นนี้ เธอต้องอาบัติสังฆาทิเสส โดยสถานใดสถานหนึ่ง ในข้อกำหนด 3 ประการ คือ (1) มีความเข้าใจ
กรรมที่ภิกษุณีสงฆ์ทำโดยชอบธรรมว่าเป็นกรรมที่ภิกษุณีสงฆ์ทำโดยชอบธรรมเรียกนางภิกษุณี ที่ถูกลงโทษ
กลับเข้าหมู่ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส (2) มีความสงสัยในกรรมที่ภิกษุณีสงฆ์ทำโดยชอบธรรม เรียกนาง
ภิกษุณีที่ถูกลงโทษกลับเข้าหมู่ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส (3) มีความเข้าใจกรรมที่ภิกษุณีสงฆ์ทำโดยชอบ
ธรรมว่า เป็นกรรมที่ภิกษุณีสงฆ์ทำโดยไม่ชอบธรรม เรียกนางภิกษุณีที่ถูกลงโทษกลับเข้าหมู่ ต้องอาบัติ
สังฆาทิเสส ติกปาจิตตีย์ อาบัติปาจิตตีย์ 3 หมวด คือภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ โดยสถานใดสถานหนึ่ง
ในข้อกำหนด 3 ประการ เช่น ภิกษุเก็บอดิเรกจีวรไว้เกิน 10 วันแล้ว (1) มีความสำคัญว่าเกิน 10
วันแล้ว ต้องอาบัติปาจิตตีย์ (2) มีความสงสัยว่าเกิน 10 วันแล้ว ต้องอาบัติปาจิตตีย์ (3) มีความสำคัญ
ว่า ยังไม่เกิน 10 วัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ (ดู วิ.มหา. (แปล) 2/468/4)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :78 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 6. อุปาลิเถราปทาน
ในหมวดที่ 51 ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยอักขระ(คือสระ)
หรือแม้ในพยัญชนะเลย
[520] ข้าพระองค์ฉลาดในวิธีข่ม ในการกระทำคืน
ในฐานะที่ควรและฐานะที่ไม่ควร
ในการเรียกภิกษุผู้ถูกลงโทษกลับเข้าหมู่
และในการช่วยให้ภิกษุออกจากอาบัติ
ถึงความสำเร็จในการกระทำทางวินัยกรรมทุกอย่าง
[521] ข้าพระองค์ตั้งบทไว้ในวินัยและขันธกะ และขยายอุภโตวิภังค์
เรียก(ภิกษุผู้ถูกลงโทษ)กลับเข้าหมู่โดยกิจ(หน้าที่)
[522] ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในนิรุตติศาสตร์
และฉลาดในประโยชน์และสิ่งมิใช่ประโยชน์
สิ่งที่ข้าพระองค์ไม่รู้ไม่มี
ข้าพระองค์เป็นผู้เลิศผู้หนึ่งในศาสนาของพระศาสดา
[523] ในวันนี้ ข้าพระองค์มองเห็นรูปคดี2
บรรเทาความสงสัยได้ทุกอย่าง ในศาสนาของพระศากยบุตร
ตัดความลังเลได้หมดสิ้น
[524] ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในฐานะทั้งปวง คือ บทหน้า
บทหลัง อักขระ พยัญชนะ คำเริ่มต้น และคำลงท้าย
[525] เหมือนอย่างพระราชาผู้มีพลัง
ทรงจับไพร่พลของพระราชาผู้เป็นปฏิปักษ์
ให้เดือดร้อน ชนะสงครามแล้ว รับสั่งให้สร้างนครไว้ในที่นั้น
[526] พึงรับสั่งให้สร้างกำแพง รับสั่งให้ขุดคูรอบ ตั้งเสาระเนียด
สร้างซุ้มประตู สร้างป้อมต่าง ๆ ไว้ในนคร เป็นอันมาก

เชิงอรรถ :
1 ในหมวดที่ 5 ในที่นี้ หมายถึงปริวาร (ชื่อคัมภีร์พระวินัยปิฎก หมวดสุดท้ายใน 5 หมวด คือ อาทิกัมมิกะ
ปาจิตตีย์ มหาวรรค จูฬวรรค ปริวาร) (ขุ.อป.อ. 1/519/341)
2 ข้าพระองค์มองเห็นรูปคดี ในอรรถกถาเป็น รูปทกฺเข แก้ว่า ในคราวมองเห็นรูปก็คือในการวินิจฉัยวินัย
(ขุ.อป.อ. 1/523/342)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :79 }