เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [40. ปิลินทวัจฉวรรค] 9. สัพพทายกเถราปทาน
[465] พระมหามุนีตรัสธรรมกถาแก่ข้าพเจ้าแล้วทรงส่งข้าพเจ้าไป
ข้าพเจ้าถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
กลับเข้าไปยังที่อยู่ของตน
[466] ข้าพเจ้าเรียกบริวารชนมาบอกว่า ท่านทั้งหมดจงประชุมกัน
เวลาเช้าพระพุทธเจ้าจะเสด็จมายังที่อยู่ของเรา
[467] การที่พวกเราจะได้อยู่ในสำนักของพระองค์
เป็นลาภที่พวกเราได้ดีแล้วหนอ
แม้พวกเราจักทำการบูชาพระพุทธเจ้า
ผู้ประเสริฐที่สุดผู้เป็นศาสดา
[468] ข้าพเจ้าตระเตรียมข้าวและน้ำเสร็จแล้ว จึงกราบทูลภัตกาล
พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
เสด็จเข้ามาพร้อมด้วยพระอรหันต์ 200,000 องค์
[469] ข้าพเจ้าได้รับเสด็จด้วยดนตรีเครื่องห้า
พระพุทธเจ้าผู้เป็นบุรุษผู้สูงสุด
ประทับนั่งบนตั่งทองคำล้วน
[470] ในครั้งนั้น หลังคาเบื้องบนก็มุงด้วยทองคำล้วน
คนทั้งหลายโบกพัดถวายในระหว่างภิกษุสงฆ์
[471] ข้าพเจ้าได้ถวายข้าวน้ำอย่างเพียงพอ
ให้ภิกษุสงฆ์ฉันจนอิ่มหนำแล้ว
ได้ถวายผ้าแก่ภิกษุสงฆ์รูปละ 1 คู่
[472] พระพุทธเจ้าที่ผู้คนเรียกพระนามว่าสุเมธะ
ผู้สมควรรับเครื่องบูชาของโลก
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :646 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [40. ปิลินทวัจฉวรรค] 9. สัพพทายกเถราปทาน
[473] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ถวายข้าวน้ำ
ให้ภิกษุทั้งหมดนี้ฉันจนอิ่มหนำ
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[474] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด 118 กัป
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 1,000 ชาติ
[475] เขาเกิดในกำเนิดใด
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น ๆ หลังคาทองคำล้วนจักกางกั้นให้ตลอดเวลา
[476] ในกัปที่ 30,000 (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[477] ผู้นั้นจักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น
เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวง จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[478] ผู้นั้นจักนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้วบันลือสีหนาท
เขาสิ้นชีวิตแล้วถูกเผาภายใต้ฉัตร
ที่ชนทั้งหลายกั้นไว้ที่เชิงตะกอน
[479] สามัญผลข้าพเจ้าบรรลุแล้วตามลำดับ
กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ที่มณฑปหรือที่โคนต้นไม้
ความเร่าร้อนไม่มีแก่ข้าพเจ้า
[480] ในกัปที่ 30,000 (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการให้ทุกสิ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :647 }