เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 3. มหากัสสปเถราปทาน
[404] พระเจดีย์นั้นรุ่งเรืองอยู่(ด้วยรัตนะทั้ง 7)
ดุจกองไฟลุกโพลงอยู่ ส่องสว่างทั่วทั้ง 4 ทิศ
ดุจต้นพญาไม้สาละออกดอกบานสะพรั่ง และดุจสายรุ้งในอากาศ
[405] ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสในห้องบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้น
สร้างกุศลเป็นอันมากแล้วระลึกถึงบุพกรรมแล้ว
จึงไปเกิดยังสวรรค์ชั้นไตรทิพย์
[406] ข้าพเจ้าอธิษฐานยานทิพย์เทียมด้วยม้าสินธพ 1,000 ตัว
วิมานของข้าพเจ้า สูงตระหง่าน 7 ชั้น
[407] (ในวิมานนั้น) มีเรือนยอด 1,000 หลัง ทำด้วยทองคำล้วน
รุ่งเรืองด้วยเดชของตน ส่องสว่างทั่วทุกทิศ
[408] ครั้งนั้น มีศาลาหน้ามุขทำด้วยแก้วทับทิมแม้เหล่าอื่นอยู่
ศาลาหน้ามุขแม้เหล่านั้นมีรัศมีโชติช่วงรอบ ๆ ทั้ง 4 ทิศ
[409] เรือนยอดซึ่งเกิดขึ้นด้วยบุญกรรม
ที่บุญกรรมเนรมิตไว้อย่างดี
ทำด้วยแก้วมณี โชติช่วงโดยรอบทั่วทุกทิศ
[410] แสงสว่างแห่งเรือนยอดซึ่งโชติช่วงอยู่เหล่านั้นได้สว่างเจิดจ้า
ข้าพเจ้าปกครองเทวดาทั้งปวง นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม
[411] ในกัปที่ 60,000 (นับแต่กัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าเป็นกษัตริย์นามว่าอุพพิทธะ มีชัยชนะ
มีทวีปทั้ง 4 เป็นขอบเขต ครองแผ่นดิน
[412] ในภัทรกัปก็อย่างนั้นเหมือนกัน
ข้าพเจ้าได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ผู้มีพลานุภาพมาก
ยินดีพอใจในกรรมของตน1 ถึง 30 ชาติ

เชิงอรรถ :
1 กรรมของตน ในที่นี้หมายถึงทศพิธราชธรรม ธรรมสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน 10 ประการ คือ ทาน (การ
ให้สิ่งของ) ศีล (ประพฤติดีงาม) ปริจจาคะ (ความเสียสละ) อาชชวะ (ความซื่อตรง) มัททวะ (ความอ่อนโยน)
ตบะ (ไม่หมกมุ่นในความสุขสำราญ) อักโกธะ (ความไม่โกรธ) อวิหิงสา (ความไม่ข่มเหงเบียดเบียน)
ขันติ (ความอดทน) อวิโรธนะ (ความไม่คลาดธรรม) (ขุ.อป.อ. 1/412-3/322)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :63 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 3. มหากัสสปเถราปทาน
[413] ข้าพเจ้าเป็นใหญ่ในทวีปทั้ง 4
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ
ในคราวเป็นพระเจ้าจักรพรรดินั้น
ปราสาทของข้าพเจ้าสูงตระหง่านดังสายรุ้ง
[414] ปราสาทนั้นยาว 24 โยชน์ กว้าง 12 โยชน์
มีกรุงชื่อว่ารัมมกะ มีกำแพงและค่ายมั่นคง
[415] นครนั้น มีกำแพงและค่ายยาว 500 โยชน์
กว้าง 250 โยชน์ มีหมู่ชนพลุกพล่านขวักไขว่
ดังเมืองสวรรค์ชั้นไตรทิพย์
[416] เข็ม 25 เล่มที่ใส่ไว้ในกล่องเข็มแล้ว
ย่อมกระทบกันและกัน เบียดเสียดกันเป็นนิตย์ ฉันใด
[417] แม้กรุงของข้าพเจ้าก็ฉันนั้น
พลุกพล่านขวักไขว่ไปด้วยช้าง ม้า และรถ
มีมนุษย์ ขวักไขว่น่ารื่นรมย์ เป็นกรุงอันอุดม
[418] ข้าพเจ้า ดื่ม กิน อยู่ในกรุงนั้น แล้วกลับไปเกิดเป็นเทวดาอีก
ในภพสุดท้าย กุศลสมบัติได้มีแก่ข้าพเจ้า
[419] ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลพราหมณ์ สะสมรัตนะไว้เป็นอันมาก
สละทรัพย์ 80 โกฏิ แล้วออกบวช
[420] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระมหากัสสปเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
มหากัสสปเถราปทานที่ 3 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :64 }