เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [40. ปิลินทวัจฉวรรค] 2. เสลเถราปทาน
ผู้ทรงเป็นพระธรรมราชา
ผู้ทรงบรรเทาลูกศรคือความเศร้าโศกให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด
[265] (เกนิยพราหมณ์ กล่าวว่า)
ท่านคงเห็นป่าใหญ่ เขียว
ดุจดังก้อนมหาเมฆตั้งขึ้น
เปรียบด้วยดอกอัญชัน ซึ่งปรากฏดุจท้องทะเล
[266] พระพุทธเจ้า ผู้ทรงฝึกฝนคนที่ยังมิได้รับการฝึกฝน
ทรงเป็นมุนี ทรงแนะนำเวไนยสัตว์ให้ตรัสรู้โพธิปักขิยธรรม
พระองค์ทรงประทับอยู่ที่ป่านั้น
[267] ข้าพเจ้าเที่ยวค้นหาพระชินเจ้า
เปรียบเหมือนคนกระหายน้ำแสวงหาน้ำดื่ม
เปรียบเหมือนคนหิวข้าวแสวงหาข้าวกิน
เปรียบเหมือนแม่โครักลูกโคเที่ยวค้นหาลูกโค
[268] ข้าพเจ้ารู้จักอาจาระและอุปจาระ
สำรวมระวังเหมาะสมแก่เหตุ
ให้บรรดาศิษย์ของตนซึ่งจะไปยังสำนักพระชินเจ้า ศึกษาว่า
[269] พระผู้มีพระภาคทั้งหลาย หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
เสด็จเที่ยวไปเพียงพระองค์เดียว ดุจดังราชสีห์
มาณพทั้งหลาย พวกท่านควรเข้าแถวกันมา
[270] พระพุทธเจ้าทั้งหลายหาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
ดุจอสรพิษกล้า
ดุจพญาเนื้อไกรสรราชสีห์
ดุจช้างกุญชรตกมันที่ได้รับการฝึกแล้ว
[271] มาณพทั้งหลาย พวกท่านจงอย่าไอ อย่าจาม
เดินเข้าแถวพากันเข้าไปยังสำนักของพระพุทธเจ้าเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :618 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [40. ปิลินทวัจฉวรรค] 2. เสลเถราปทาน
[272] พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงเป็นผู้หนักในการอยู่ในที่เร้น
ชอบสถานที่เงียบเสียง
หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก ยากที่จะเข้าเฝ้า
ทรงเป็นครูในมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลก
[273] ข้าพเจ้าทูลถามปัญหาข้อใด หรือได้ปราศรัยโต้ตอบอยู่
ขณะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายจงเงียบเสียงนิ่งเฉยอยู่
[274] พระองค์ทรงแสดงพระสัทธรรมใด
ซึ่งเป็นธรรมปลอดโปร่ง เพื่อบรรลุนิพพาน
ขอท่านทั้งหลายจงพิจารณาเนื้อความแห่งพระสัทธรรมนั้น
เพราะการฟังพระสัทธรรมเป็นเหตุนำสุขมาให้
[275] ข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
ได้สนทนาปราศรัยกับพระมุนี
ให้การสนทนานั้นผ่านไปแล้วจึงตรวจดูพระลักษณะ
[276] ข้าพเจ้าสงสัยพระลักษณะ 2 ประการ
ได้เห็นเพียงพระลักษณะ 30 ประการ
พระมุนีจึงได้ทรงแสดงพระคุยหฐาน
ซึ่งเร้นอยู่ในฝักให้ปรากฏด้วยฤทธิ์
[277] อนึ่ง พระชินเจ้าได้ทรงแลบพระชิวหา
สอดเข้าในช่องพระกรรณและเข้าในช่องพระนาสิก
แล้วปกปิดไปถึงสุดพระนลาฏทั้งสิ้น
[278] ข้าพเจ้าได้เห็นพระลักษณะของพระองค์
ครบถ้วนบริบูรณ์พร้อมทั้งพระอนุพยัญชนะ
จึงแน่ใจได้ว่าเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว
ได้บวชพร้อมกับบรรดาศิษย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :619 }