เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 2. มหาโมคคัลลานเถราปทาน
[391] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ คือ จะเป็นนรกหรือมนุษย์ก็ตาม
เพราะเป็นผู้มากด้วยความชั่ว ข้าพเจ้าจึงถูกทุบศีรษะตาย
[392] นี้เป็นกรรมครั้งสุดท้ายของข้าพเจ้า
ภพสุดท้ายกำลังเป็นไปอยู่
กรรมเช่นนี้จักปรากฏแก่ข้าพเจ้าในเวลาจะตายแม้ในชาตินี้
[393] ข้าพเจ้าหมั่นประกอบความสงัด ยินดีในการเจริญสมาธิ
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[394] (เมื่อพระเถระจะประกาศผลแห่งความประพฤติในก่อน จึงกล่าวว่า)
ข้าพเจ้าถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์ พึงใช้นิ้วหัวแม่เท้าข้างซ้าย
เขี่ยแผ่นดินซึ่งทั้งลึกทั้งหนาที่อะไร ๆ กำจัดได้ยาก ให้ไหวได้
[395] ข้าพเจ้าไม่เห็นอัสมิมานะ(ถือตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่)
ข้าพเจ้าไม่มีความถือตัว
ข้าพเจ้ากระทำจิตให้มีความเคารพ แม้กระทั่งสามเณร
[396] ในกัปที่นับมิได้ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญกรรมใดไว้
ข้าพเจ้าได้บรรลุถึงภูมินั้น1 แล้วบรรลุความสิ้นอาสวะ
[397] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
มหาโมคคัลลานเถราปทานที่ 2 จบ

เชิงอรรถ :
1 ภูมินั้น หมายถึงสาวกภูมิ ซึ่งหมายถึงบรรลุพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. 1/396/302)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :61 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 3. มหากัสสปเถราปทาน
3. มหากัสสปเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมหากัสสปเถระ
(พระมหากัสสปเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[398] ประชาชนพากันทำการบูชาพระผู้มีพระภาค
ผู้ศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่
ในเมื่อพระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
[399] หมู่ชนมีจิตร่าเริง บันเทิงเบิกบาน ทำการบูชา
เมื่อหมู่ชนนั้นเกิดความสังเวช แต่ข้าพเจ้าเกิดความปีติยินดี
[400] ข้าพเจ้าได้เชิญญาติมิตรมาประชุมกันแล้วได้กล่าวคำนี้ว่า
พระผู้มีพระภาคผู้มีความเพียรมากได้ปรินิพพานแล้ว
ขอเชิญพวกเรามาทำการบูชาเถิด
[401] ญาติมิตรของข้าพเจ้าเหล่านั้นรับคำแล้ว
ก็ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความร่าเริงเป็นอย่างยิ่งว่า
พวกเราจักทำการสั่งสมบุญ
ในพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
[402] ข้าพเจ้าได้ช่วยกันสร้างอัคฆิยเจดีย์
เป็นเจดีย์ที่สร้างอย่างดี สูง 100 ศอก กว้าง 150 ศอก
เป็นดังวิมานสูงเสียดฟ้า สั่งสมบุญไว้แล้ว
[403] ข้าพเจ้าครั้นสร้างอัคฆิยเจดีย์ ซึ่งงดงามด้วยแนวแห่งต้นตาล
ไว้ใกล้สถานที่ที่ทำการบูชาเจดีย์นั้นแล้ว
ทำจิตของตนให้เลื่อมใส บูชาเจดีย์อันสูงสุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :62 }