เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 2. มหาโมคคัลลานเถราปทาน
[382] พระผู้มีพระภาคผู้ทรงมีความเพียรมาก
ผู้เป็นพระสยัมภู เป็นบุคคลผู้เลิศ ทรงอนุโมทนาแล้ว
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[383] บุคคลใดได้บูชาพระสงฆ์ และได้บูชาพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น
บุคคลนั้นจักไปเกิดยังเทวโลก
[384] จักครองเทวสมบัติ 77 ชาติ
จักเป็นพระเจ้าแผ่นดินครองแผ่นดิน 108 ชาติ
[385] และจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 55 ชาติ
โภคสมบัตินับจำนวนไม่ถ้วนจักเกิดขึ้นแก่เขาในขณะนั้น
[386] ในกัปที่นับมิได้ นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[387] เขาจุติจากนรกแล้วจักมาเกิดเป็นมนุษย์
เป็นบุตรของพราหมณ์มีนามว่าโกลิตะ
[388] ภายหลัง เขาถูกกุศลมูลตักเตือนแล้ว
จักบวชเป็นสาวกองค์ที่ 2 ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม
[389] เป็นผู้บำเพ็ญเพียร1 มีใจเด็ดเดี่ยว(เพื่อนิพพาน)
ถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[390] (พระเถระครั้นกล่าวคำพยากรณ์ที่ตนได้รับแล้ว
เมื่อจะประกาศความประพฤติชั่วจึงกล่าวว่า)
ข้าพเจ้าคลุกคลีมิตรชั่ว ตกอยู่ในอำนาจกามราคะ
มีใจโกรธเคือง ได้ฆ่ามารดาและบิดาเสียแล้ว

เชิงอรรถ :
1 ผู้บำเพ็ญเพียร หมายถึงมีความเพียรในอิริยาบถทั้งหลายมีการยืนการนั่งเป็นต้น (ขุ.อป.อ. 1/389/289)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :60 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 2. มหาโมคคัลลานเถราปทาน
[391] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ คือ จะเป็นนรกหรือมนุษย์ก็ตาม
เพราะเป็นผู้มากด้วยความชั่ว ข้าพเจ้าจึงถูกทุบศีรษะตาย
[392] นี้เป็นกรรมครั้งสุดท้ายของข้าพเจ้า
ภพสุดท้ายกำลังเป็นไปอยู่
กรรมเช่นนี้จักปรากฏแก่ข้าพเจ้าในเวลาจะตายแม้ในชาตินี้
[393] ข้าพเจ้าหมั่นประกอบความสงัด ยินดีในการเจริญสมาธิ
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[394] (เมื่อพระเถระจะประกาศผลแห่งความประพฤติในก่อน จึงกล่าวว่า)
ข้าพเจ้าถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์ พึงใช้นิ้วหัวแม่เท้าข้างซ้าย
เขี่ยแผ่นดินซึ่งทั้งลึกทั้งหนาที่อะไร ๆ กำจัดได้ยาก ให้ไหวได้
[395] ข้าพเจ้าไม่เห็นอัสมิมานะ(ถือตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่)
ข้าพเจ้าไม่มีความถือตัว
ข้าพเจ้ากระทำจิตให้มีความเคารพ แม้กระทั่งสามเณร
[396] ในกัปที่นับมิได้ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญกรรมใดไว้
ข้าพเจ้าได้บรรลุถึงภูมินั้น1 แล้วบรรลุความสิ้นอาสวะ
[397] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
มหาโมคคัลลานเถราปทานที่ 2 จบ

เชิงอรรถ :
1 ภูมินั้น หมายถึงสาวกภูมิ ซึ่งหมายถึงบรรลุพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. 1/396/302)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :61 }