เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 1. สารีปุตตเถราปทาน
[361] ข้าพระองค์เป็นคนมีคารวะอย่างสูงสุด1
เพราะได้บรรลุสาวกบารมีญาณด้วยความรู้
ข้าพระองค์มีจิตอนุเคราะห์เพื่อนสพรหมจารี2ด้วยศรัทธาทุกเมื่อ
[362] ข้าพระองค์ละทิ้งความถือตัวและความเย่อหยิ่งแล้ว
ดุจงูถูกถอนเขี้ยวเสียแล้ว3 (หรือ) ดุจโคอุสภะตัวเขาหักเสียแล้ว
เข้าหาหมู่คณะด้วยความเคารพหนักแน่น
[363] หากปัญญาของข้าพระองค์จะพึงมีรูปร่าง
ปัญญาของข้าพระองค์ก็จะต้องเสมอกับพระเจ้าแผ่นดินทั้งหลาย
นี้เป็นผลของการชมเชยพระญาณของพระผู้มีพระภาค
พระนามว่าอโนมทัสสี
[364] ข้าพระองค์ประพฤติตามโดยชอบซึ่งพระธรรมจักร4
นี้เป็นผลของการชมเชยพระญาณ
[365] บุคคลผู้มีความปรารถนาเลวทราม เป็นคนเกียจคร้าน
ละความเพียร มีการศึกษาน้อย ไม่มีมารยาท5
อย่าได้มาสมาคมกับข้าพระองค์ในที่ไหน ๆ สักคราวเลย

เชิงอรรถ :
1 คำว่า ปุริสุตฺตมคารวา ในฉบับพม่า และ ขุ. เถร. อ. 2/433 (ซึ่งท่านยกคาถาจากอปทานไปกล่าวไว้)เป็น
ปุริสุตฺตมภารวา จึงแปลตามนั้น ซึ่งน่าจะถูกต้องกว่า เพราะคำว่า ปุริสุตฺตมคารวา เป็นพหูพจน์ ดูไม่สม
กับข้อความข้างต้นและข้างท้าย ซึ่งท่านกล่าวเป็นเอกพจน์ ส่วน ปุริสุตฺตมภารวา เป็นเอกพจน์ สมกับ
ข้างต้นและข้างท้าย ในอปทานอรรถกถาท่านมิได้แก้ไว้
2 เพื่อนสพรหมจารี หมายถึงผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกัน เพื่อนบรรพชิต
3 คำว่า อุทฺธฏทาโฒ ฉบับพม่าและอรรถกถาเป็น อุทฺธตวิโส ถูกรีดพิษออกแล้ว (ขุ.อป.อ. 1/362/284)
4 ธรรมจักร ในที่นี้หมายถึงพระไตรปิฎก (พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม) (ขุ.อป.อ. 1/364/285)
5 หีน ใช้ในอรรถว่าละ หา จาเค อิโน ทีฆาทิ หีโน = หา ธาตุใช้ในอรรถว่าละ อินปัจจัย ทีฆะต้นธาตุ
สำเร็จรูปเป็นหีโน (อภิธา.ฏีกา ข้อ 754), มีความปรารถนาเลวทราม หมายถึงมีความปรารถนาลามกแล้ว
ประพฤติชั่ว,
เป็นคนเกียจคร้าน หมายถึงเกียจคร้านในการทำวัตรปฏิบัติในอิริยาบถมีการยืนและนั่งเป็นต้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :56 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 1. สารีปุตตเถราปทาน
[366] ส่วนบุคคลผู้มีการศึกษามาก มีปัญญา
มีจิตตั้งมั่นดีในศีลทั้งหลาย หมั่นประกอบความสงบทางใจ
ขอจงมาดำรงอยู่บนศีรษะของข้าพระองค์เถิด
[367] (เมื่อพระสารีบุตรเถระจะชักชวนภิกษุอื่น ๆ
ในคุณสมบัตินั้น จึงกล่าวว่า)
เหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวกับท่านทั้งหลาย
ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย
ตามจำนวนที่มาประชุมกัน ณ ที่นี้
ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้มักน้อย สันโดษ
ยินดีให้ทานทุกเมื่อเถิด
[368] ข้าพเจ้าพบสาวกรูปใดก่อนแล้ว
ได้เป็นผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส ปราศจากมลทินคือกิเลส
สาวกรูปนั้นมีนามว่าอัสสชิ เป็นนักปราชญ์ เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า
[369] ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระอัสสชิเถระนั้น
วันนี้ ข้าพเจ้าได้เป็นธรรมเสนาบดีถึงความสำเร็จในคุณทั้งปวง
จึงอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[370] พระสาวกรูปใดชื่อว่าอัสสชิ เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า
อยู่ ณ ทิศใด ข้าพเจ้าจะนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น
[371] พระผู้มีพระภาคผู้โคดมศากยะผู้ประเสริฐ
ทรงระลึกถึงกรรมของข้าพเจ้าแล้ว
ประทับนั่งท่ามกลางหมู่ภิกษุ
ทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งอัครสาวก
[372] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าเผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าถอนได้แล้ว

เชิงอรรถ :
ละความเพียร หมายถึงละความเพียรในการเจริญฌาณ สมาธิและมรรคเป็นต้น
มีการศึกษาน้อย หมายถึงเว้นจากคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ
ไม่มีมารยาท หมายถึงไม่มีมารยาทในบุคคลมีอาจารย์และอุปัชฌาย์เป็นต้น (ขุ.อป.อ. 1/365/285)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :57 }