เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 1. สารีปุตตเถราปทาน
[342] พระองค์ทรงทราบอัธยาศัยและอนุสัย
ทรงทราบว่าอินทรีย์มีกำลังแก่กล้าและไม่แก่กล้า
ทรงทราบบุคคลสมควรและไม่สมควร1
จึงทรงบันลือดุจมหาเมฆ
[343] เพื่อจะทรงตัดความสงสัยของชุมนุมชนที่จะพึงนั่งรอบจักรวาล
ผู้มีทิฏฐิต่างกัน มีความคิดคิดต่างกัน
[344] พระองค์ผู้เป็นมุนีทรงรู้จิตของเหล่าสัตว์ทั้งปวง
ทรงฉลาดในข้ออุปมา ตรัสแก้ปัญหาข้อเดียวเท่านั้น
ก็ทรงตัดความสงสัยของเหล่าสัตว์เสียได้
[345] พื้นแผ่นดินพึงเต็มด้วยมนุษย์ผู้เช่นกับจอกแหน
พวกเขาทั้งหมดพึงประคองอัญชลี
ประกาศคุณของพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
[346] อีกอย่างหนึ่งเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น
เมื่อประกาศคุณอยู่ตลอดกัปหนึ่ง2
พึงประกาศคุณโดยประการต่าง ๆ
ก็ยังไม่สามารถจะประกาศคุณให้สิ้นสุดได้
พระตถาคตมีพระคุณหาประมาณมิได้
[347] ก็ข้าพระองค์สรรเสริญพระชินเจ้าด้วยกำลังของตนอย่างไร
เหล่าเทวดาและมนุษย์เมื่อสรรเสริญอยู่ตลอดโกฏิกัป
ก็พึงสรรเสริญอย่างนั้นเหมือนกัน

เชิงอรรถ :
1 สมควรและไม่สมควร ในที่นี้หมายถึงผู้สามารถบรรลุธรรมและไม่สามารถบรรลุธรรม (ขุ.อป.อ.
1/342/282)
2 กัปหนึ่ง ระยะเวลายาวนานเหลือเกิน กำหนดกันว่าโลกคือสากลจักรวาลประลัยครั้งหนึ่ง ท่านเปรียบด้วย
อุปมาว่า เหมือนมีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูง ด้านละ 1 โยชน์ ทุก ๆ 100 ปี มีคนนำผ้าเนื้อบาง
ละเอียดอย่างดีมาลูบเขานั้นครั้งหนึ่ง ๆ จนกว่าภูเขาลูกนั้น จะสึกหรอหมดสิ้นไป กัปหนึ่งยังยาวนานกว่า
นั้นอีก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :53 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 1. สารีปุตตเถราปทาน
[348] ก็ถ้าใคร ๆ จะเป็นเทวดา หรือมนุษย์ก็ตาม
ได้ศึกษามาเป็นอย่างดีแล้ว จะพึงกำหนดเพื่อจะประมาณ(คุณ)
ผู้นั้นจะพึงได้รับความลำบากเปล่า
[349] ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยบุตร มีพระยศยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ดำรงอยู่ในศาสนาของพระองค์แล้ว
สำเร็จปัญญาบารมีอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[350] ข้าพระองค์จะย่ำยีเหล่าเดียรถีย์
วันนี้ ข้าพระองค์เป็นจอมทัพธรรมในศาสนาของพระศากยบุตร
ประกาศศาสนาของพระชินเจ้า
[351] กรรมที่ข้าพระองค์ได้ทำไว้ในกาลที่จะกำหนดจำนวนมิได้
แสดงผลแก่ข้าพระองค์แล้วในอัตภาพสุดท้ายนี้
ข้าพระองค์หลุดพ้นดีแล้ว ดุจกำลังลูกศรหลุดพ้นไปจากแล่ง
เผากิเลสของข้าพระองค์ได้แล้ว
[352] มนุษย์คนใดคนหนึ่งพึงทูนของหนักไว้บนศีรษะตลอดเวลา
เขาต้องลำบากเพราะของหนัก
เป็นผู้เต็มไปด้วยของหนักทั้งหลาย
[353] ข้าพระองค์ถูกไฟ 3 กอง1 เผาไหม้อยู่
เป็นผู้เต็มไปด้วยของหนักคือภพ2 โดยประการนั้น
ท่องเที่ยวไปแล้วในภพทั้งหลาย
ภูเขาสิเนรุอันบุคคลถอนขึ้นแล้วฉันใด
[354] ก็ภาระอันหนักข้าพระองค์ยกลงแล้ว
ภพทั้งหลายข้าพระองค์ก็เพิกได้แล้ว ฉันนั้น

เชิงอรรถ :
1 ไฟ 3 กอง หมายถึงไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ (ขุ.อป.อ. 1/352/283, 489-90/336)
2 ของหนักคือภพ หมายถึงการเวียนว่ายตายเกิดในภพ (ขุ.อป.อ. 1/352-3/283)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :54 }