เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 1. สารีปุตตเถราปทาน
[333] เปรียบเหมือนภูเขาศิลาล้วนชื่อหิมวา
เป็นภูเขาที่มีโอสถสำหรับสรรพสัตว์
เป็นที่อยู่ของพวกนาค อสูร และเทวดาทั้งหลาย
[334] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ก็ทรงเป็นฉันนั้น
ทรงเป็นดุจโอสถของสรรพสัตว์1 ทรงได้วิชชา 3
ได้อภิญญา 6 ถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์
[335] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
ผู้ที่พระองค์ทรงพระกรุณาพร่ำสอนแล้วนั้น
ย่อมยินดีในธรรม อยู่ในศาสนาของพระองค์
[336] ราชสีห์ผู้เป็นพญาเนื้อพอออกจากถ้ำที่อาศัยแล้ว
เหลียวดูทิศทั้ง 4 จึงบันลือสีหนาท 3 ครั้ง
[337] เมื่อราชสีห์ผู้พญาเนื้อคำราม
สัตว์ทั้งปวงย่อมสะดุ้งกลัว อันที่จริง ชาติราชสีห์นี้
ย่อมทำให้เหล่าสัตว์สะดุ้งกลัวทุกเมื่อ ฉันใด
[338] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก เมื่อพระองค์ทรงบันลืออยู่
พื้นพสุธานี้ย่อมหวั่นไหว เหล่าสัตว์ผู้ควรตรัสรู้ก็ย่อมตรัสรู้
เหล่าสัตว์ผู้อยู่ในหมู่มารย่อมสะดุ้ง ฉันนั้น
[339] ข้าแต่พระมหามุนี เมื่อพระองค์ทรงบันลืออยู่
เหล่าเดียรถีย์ทั้งปวงย่อมสะดุ้ง ดุจฝูงกา ฝูงเหยี่ยวบินกระเจิงไป
ดุจฝูงสัตว์แตกกระเจิงไปเพราะราชสีห์ผู้เป็นพญาเนื้อ ฉะนั้น
[340] เหล่าคณาจารย์บางพวกประชาชนเรียกกันว่า เป็นศาสดาในโลก
ท่านเหล่านั้นย่อมแสดงธรรมที่สืบ ๆ กันมาแก่ชุมนุมชน
[341] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก แต่พระองค์หาเป็นอย่างนั้นไม่
ครั้นทรงตรัสรู้สัจจะทั้งหลายด้วยพระองค์เองแล้ว
จึงทรงแสดงโพธิปักขิยธรรมทั้งมวลแก่เหล่าสัตว์

เชิงอรรถ :
1 เพราะทรงปลดเปลื้องสรรพสัตว์ให้พ้นจากชรา พยาธิ และมรณะ (ขุ.อป.อ. 1/333-4/282)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :52 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 1. สารีปุตตเถราปทาน
[342] พระองค์ทรงทราบอัธยาศัยและอนุสัย
ทรงทราบว่าอินทรีย์มีกำลังแก่กล้าและไม่แก่กล้า
ทรงทราบบุคคลสมควรและไม่สมควร1
จึงทรงบันลือดุจมหาเมฆ
[343] เพื่อจะทรงตัดความสงสัยของชุมนุมชนที่จะพึงนั่งรอบจักรวาล
ผู้มีทิฏฐิต่างกัน มีความคิดคิดต่างกัน
[344] พระองค์ผู้เป็นมุนีทรงรู้จิตของเหล่าสัตว์ทั้งปวง
ทรงฉลาดในข้ออุปมา ตรัสแก้ปัญหาข้อเดียวเท่านั้น
ก็ทรงตัดความสงสัยของเหล่าสัตว์เสียได้
[345] พื้นแผ่นดินพึงเต็มด้วยมนุษย์ผู้เช่นกับจอกแหน
พวกเขาทั้งหมดพึงประคองอัญชลี
ประกาศคุณของพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
[346] อีกอย่างหนึ่งเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น
เมื่อประกาศคุณอยู่ตลอดกัปหนึ่ง2
พึงประกาศคุณโดยประการต่าง ๆ
ก็ยังไม่สามารถจะประกาศคุณให้สิ้นสุดได้
พระตถาคตมีพระคุณหาประมาณมิได้
[347] ก็ข้าพระองค์สรรเสริญพระชินเจ้าด้วยกำลังของตนอย่างไร
เหล่าเทวดาและมนุษย์เมื่อสรรเสริญอยู่ตลอดโกฏิกัป
ก็พึงสรรเสริญอย่างนั้นเหมือนกัน

เชิงอรรถ :
1 สมควรและไม่สมควร ในที่นี้หมายถึงผู้สามารถบรรลุธรรมและไม่สามารถบรรลุธรรม (ขุ.อป.อ.
1/342/282)
2 กัปหนึ่ง ระยะเวลายาวนานเหลือเกิน กำหนดกันว่าโลกคือสากลจักรวาลประลัยครั้งหนึ่ง ท่านเปรียบด้วย
อุปมาว่า เหมือนมีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูง ด้านละ 1 โยชน์ ทุก ๆ 100 ปี มีคนนำผ้าเนื้อบาง
ละเอียดอย่างดีมาลูบเขานั้นครั้งหนึ่ง ๆ จนกว่าภูเขาลูกนั้น จะสึกหรอหมดสิ้นไป กัปหนึ่งยังยาวนานกว่า
นั้นอีก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :53 }