เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 1. สารีปุตตเถราปทาน
[325] ดอกโกมุท ดอกบัวเผื่อน จำนวนมาก
เกิดในน้ำแล้วติดอยู่กับน้ำและเปือกตม ฉันใด
[326] เหล่าสัตว์จำนวนมากก็ฉันนั้น เกิดมาในโลกแล้ว
ถูกราคะและโทสะเบียดเบียน ย่อมงอกงาม(ในวัฏฏสงสาร)
ดุจดอกโกมุทงอกงามในเปือกตม ฉะนั้น
[327] ดอกบัวหลวงเกิดในน้ำ งดงามอยู่กลางน้ำ
(แต่)ดอกบัวหลวงนั้นยังคงบริสุทธิ์ ไม่ติดอยู่กับน้ำ ฉันใด
[328] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ก็ทรงเป็นฉันนั้น
เป็นมหามุนี เกิดมาแล้วในโลก (แต่)ไม่ทรงติดอยู่กับโลก
ดุจดอกบัวหลวงไม่ติดอยู่กับน้ำ ฉะนั้น
[329] ดอกไม้หลายชนิดที่เกิดในน้ำ
ย่อมแย้มบานในเดือน 12 ไม่ล่วงเลยเดือน 12 นั้นไป
เพราะเดือน 12 นั้นเป็นกาลสมัยที่ดอกไม้จะบาน ฉันใด
[330] ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยบุตร พระองค์ก็เป็นผู้แย้มบานแล้ว ฉันนั้น
เหล่าศิษย์ของพระองค์ก็เป็นผู้แย้มบานแล้วด้วยวิมุตติ
ไม่ล่วงเลยคำสั่งสอนของพระองค์ไปได้
ดุจดอกบัวหลวงซึ่งแย้มบานด้วยน้ำ
ไม่ล่วงเลยกาลสมัยเป็นที่แย้มบานไปได้ ฉะนั้น
[331] ต้นพญาไม้สาละออกดอกบานสะพรั่ง
ส่งกลิ่นหอมอบอวลไปคล้ายกลิ่นทิพย์
แวดล้อมด้วยไม้สาละชนิดอื่น ย่อมงดงาม ฉันใด
[332] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ทรงแย้มบานด้วยพระพุทธญาณ มีหมู่ภิกษุแวดล้อม
ย่อมงดงาม ดุจพญาไม้สาละ ฉะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :51 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 1. สารีปุตตเถราปทาน
[333] เปรียบเหมือนภูเขาศิลาล้วนชื่อหิมวา
เป็นภูเขาที่มีโอสถสำหรับสรรพสัตว์
เป็นที่อยู่ของพวกนาค อสูร และเทวดาทั้งหลาย
[334] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ก็ทรงเป็นฉันนั้น
ทรงเป็นดุจโอสถของสรรพสัตว์1 ทรงได้วิชชา 3
ได้อภิญญา 6 ถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์
[335] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
ผู้ที่พระองค์ทรงพระกรุณาพร่ำสอนแล้วนั้น
ย่อมยินดีในธรรม อยู่ในศาสนาของพระองค์
[336] ราชสีห์ผู้เป็นพญาเนื้อพอออกจากถ้ำที่อาศัยแล้ว
เหลียวดูทิศทั้ง 4 จึงบันลือสีหนาท 3 ครั้ง
[337] เมื่อราชสีห์ผู้พญาเนื้อคำราม
สัตว์ทั้งปวงย่อมสะดุ้งกลัว อันที่จริง ชาติราชสีห์นี้
ย่อมทำให้เหล่าสัตว์สะดุ้งกลัวทุกเมื่อ ฉันใด
[338] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก เมื่อพระองค์ทรงบันลืออยู่
พื้นพสุธานี้ย่อมหวั่นไหว เหล่าสัตว์ผู้ควรตรัสรู้ก็ย่อมตรัสรู้
เหล่าสัตว์ผู้อยู่ในหมู่มารย่อมสะดุ้ง ฉันนั้น
[339] ข้าแต่พระมหามุนี เมื่อพระองค์ทรงบันลืออยู่
เหล่าเดียรถีย์ทั้งปวงย่อมสะดุ้ง ดุจฝูงกา ฝูงเหยี่ยวบินกระเจิงไป
ดุจฝูงสัตว์แตกกระเจิงไปเพราะราชสีห์ผู้เป็นพญาเนื้อ ฉะนั้น
[340] เหล่าคณาจารย์บางพวกประชาชนเรียกกันว่า เป็นศาสดาในโลก
ท่านเหล่านั้นย่อมแสดงธรรมที่สืบ ๆ กันมาแก่ชุมนุมชน
[341] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก แต่พระองค์หาเป็นอย่างนั้นไม่
ครั้นทรงตรัสรู้สัจจะทั้งหลายด้วยพระองค์เองแล้ว
จึงทรงแสดงโพธิปักขิยธรรมทั้งมวลแก่เหล่าสัตว์

เชิงอรรถ :
1 เพราะทรงปลดเปลื้องสรรพสัตว์ให้พ้นจากชรา พยาธิ และมรณะ (ขุ.อป.อ. 1/333-4/282)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :52 }