เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [33. อุมาปุปผิยวรรค] 7. นิคคุณฑิปุปผิยเถราปทาน
[58] ข้าพเจ้าได้ฟังธรรมของท่านพระอานนท์แล้ว
ระลึกถึงบุพกรรมยืนอยู่ในที่นั้นเอง ก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[59] ข้าพเจ้าห่มจีวรเฉวียงบ่า
ประคองอัญชลีไว้เหนือเศียรเกล้า
ถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้เปล่งวาจานี้
[60] ข้าพเจ้าถือดอกย่านทรายไปวางที่พระแท่นสีหาสน์
ของพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้คงที่
[61] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
ด้วยผลแห่งกรรมนั้น
ข้าพระองค์ละความชนะและความพ่ายแพ้ได้แล้ว
บรรลุฐานะที่ไม่หวั่นไหว
[62] ในกัปที่ 25,000 (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 16 ชาติ
มีอายุมากมายหลายอัพพุทะและนิรัพพุทะ
[63] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระนิคคุณฑิปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
นิคคุณฑิปุปผิยเถราปทานที่ 7 จบ

เชิงอรรถ :
เป็นพหูสูต ในที่นี้หมายถึงได้เรียนพุทธพจน์โดยตรงจากพระผู้มีพระภาค ตั้งอยู่ในฐานะ “ขุนคลังปริยัติ”
ในศาสนาของพระทศพล (องฺ.เอกก.อ. 1/223/256)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :492 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [33. อุมาปุปผิยวรรค] 8. สุมนาเวฬิยเถราปทาน
8. สุมนาเวฬิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุมนาเวฬิยเถระ
(พระสุมนาเวฬิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[64] ชนทั้งปวงมาประชุมกันทำการบูชาใหญ่แด่พระผู้มีพระภาค
พระนามว่าเวสสภู ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่
[65] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าใส่ก้อนปูนขาวแล้ววางพวงมาลัยดอกมะลิไว้
บูชาข้างหน้าพระแท่นสีหาสน์
[66] ชนทั้งปวงมามุงดูดอกไม้ชั้นดีเยี่ยมด้วยคิดว่า
ดอกไม้นี้ใครบูชาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด ผู้คงที่
[67] ข้าพเจ้าได้เข้าถึงสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
เพราะจิตที่เลื่อมใสนั้น
ได้เสวยผลกรรมของตนที่ทำไว้ดีแล้วในครั้งก่อน
[68] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ย่อมเป็นที่รักของปวงชน
นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยดอกไม้
[69] ข้าพเจ้าไม่รู้ถึงการด่าทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ
ที่ข้าพเจ้าทำแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายผู้สำรวม ผู้มีตบะ
[70] ด้วยความประพฤติชอบนั้น
และด้วยการตั้งเจตจำนงไว้
ข้าพเจ้าจึงเป็นผู้ที่ปวงชนบูชา
นี้เป็นผลแห่งการไม่ด่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :493 }