เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [31. ปทุมเกสริยวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
และได้ตั้งหม้อน้ำสำหรับฉันไว้ถวายแด่พระองค์ผู้คงที่
[48] พระพุทธเจ้าผู้มหามุนีพระนามว่าปิยทัสสี
ทรงพยากรณ์เรื่องนั้นแก่ข้าพเจ้าว่า
จักมีปราสาท 7 ชั้น สูงพันชั่วลูกธนู
สะพรั่งไปด้วยธง พราวไปด้วยแก้วมณีสีเขียว
[49] ปราสาทและแก้วนับประมาณมิได้ จักบังเกิดขึ้น
ครั้นข้าพเจ้าถวายทานคือการชำระถ้ำแล้ว
บันเทิงอยู่ในสวรรค์ตลอด 1 กัป
[50] ในกัปที่ 32 นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่าสุพุทธะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ มีพลานุภาพมาก
[51] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปัพภารทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปัพภารทายกเถราปทานที่ 10 จบ
ปทุมเกสริยวรรคที่ 31 จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

1. ปทุมเกสริยเถราปทาน 2. สัพพคันธิยเถราปทาน
3. ปรมันนทายกเถราปทาน 4. ธัมมสัญญกเถราปทาน
5. ผลทายกเถราปทาน 6. สัมปสาทิกเถราปทาน
7. อารามทายกเถราปทาน 8. อนุเลปทายกเถราปทาน
9. พุทธสัญญิกเถราปทาน 10. ปัพภารทายกเถราปทาน

และท่านกล่าวคาถาไว้ 51 คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :471 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [32. อารักขาทายกวรรค] 2. โภชนทายกเถราปทาน
32. อารักขทายกวรรค
หมวดว่าด้วยพระอารักขทายกะเป็นต้น
1. อารักขทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอารักขทายกเถระ
(พระอารักขทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[1] ข้าพเจ้าให้สร้างรั้ว และได้ถวายอารักขา
แด่พระมุนีพระนามว่าธัมมทัสสี
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้คงที่
[2] ในกัปที่ 118 (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงได้บรรลุความสิ้นอาสวะ เพราะผลกรรมวิเศษนั้น
[3] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอารักขทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อารักขทายกเถราปทานที่ 1 จบ

2. โภชนทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโภชนทายกเถระ
(พระโภชนทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[4] พระชินเจ้าย่อมรุ่งโรจน์ทุกเมื่อ ดังหน่อต้นรังที่เกิดดี
ดุจไม้อัญชันที่กำลังขึ้นงาม (และ) เหมือนสายรุ้งในอากาศ
[5] ข้าพเจ้ามีใจผ่องใส
ได้ถวายโภชนะแด่พระองค์ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ
พระนามว่าเวสสภู ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :472 }