เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 1. สารีปุตตเถราปทาน
[294] ท่านเป็นผู้สมควรแก่ความงาม เป็นเหมือนผู้ฝึกฝนตนมาแล้ว
เหมือนช้างถูกแทงด้วยหอก ไม่หวั่นไหว
พราหมณ์ ท่านเป็นผู้มีการฝึกฝนมาดี
จึงสงบระงับแล้ว ในทางเป็นที่ฝึก
[295] ข้าพระองค์ตอบว่า ข้าพเจ้าได้บรรลุอมตธรรม
ซึ่งเป็นเครื่องบรรเทาลูกศรคือความเศร้าโศกแล้ว
ถึงตัวท่านก็จะบรรลุอมตธรรมนั้นได้
พวกเราไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากันเถิด
[296] สหายนั้นอันข้าพระองค์ให้ศึกษาอย่างดีแล้ว
จึงรับคำว่า ดีละ แล้วได้จูงมือกันมายังสำนักของพระองค์
[297] ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยบุตร ข้าพระองค์ทั้ง 2
จักบวชในสำนักของพระองค์
อาศัยคำสอนของพระองค์อยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[298] ท่านโกลิตะเป็นผู้เลิศด้วยฤทธิ์ ข้าพระองค์เลิศด้วยปัญญา
ข้าพระองค์ทั้ง 2 จะร่วมมือกันทำศาสนาให้งดงาม
[299] (เมื่อก่อน) ข้าพระองค์มีความดำริยังไม่ถึงที่สุด
จึงได้เที่ยวไปในลัทธิที่ผิด
(แต่บัดนี้)เพราะได้อาศัยทัศนะของพระองค์
ความดำริของข้าพระองค์จึงเต็ม
[300] หมู่ไม้เกิดบนแผ่นดินย่อมแย้มบานในฤดูกาล
กลิ่นทิพย์หอมอบอวลไปทำให้สรรพสัตว์ยินดี (ฉันใด)
[301] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
ผู้เป็นศากยบุตร มีพระยศยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ดำรงอยู่ในศาสนาของพระองค์แล้ว
ย่อมแสวงหากาลเวลาเพื่อจะแย้มบาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :47 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 1. สารีปุตตเถราปทาน
[302] ข้าพระองค์แสวงหาดอกไม้คือวิมุตติ1
ซึ่งเป็นเหตุหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ
ให้สรรพสัตว์ยินดีด้วยการได้ดอกไม้คือวิมุตติ
[303] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ ตลอดพุทธเขต2
ยกเว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นมหามุนีเสีย
ก็ไม่มีใครจะมีปัญญาเหมือนกับข้าพระองค์ผู้เป็นบุตรของพระองค์เลย
[304] ศิษย์และชุมนุมชนของพระองค์ที่พระองค์ทรงแนะนำดีแล้ว
ให้ศึกษาดีแล้ว ฝึกฝนในอุบายเครื่องฝึกอันสูงสุด
แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[305] ท่านเหล่านั้นมีปกติเข้าฌาน ยินดีในฌาน
เป็นนักปราชญ์ มีจิตสงบ มีจิตตั้งมั่น เป็นมุนี
สมบูรณ์ด้วยความเป็นมุนี แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[306] ท่านเหล่านั้นมักน้อย มีปัญญารักษาตน
เป็นนักปราชญ์ ฉันอาหารแต่น้อย ไม่โลภ
สันโดษตามมีตามได้ แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[307] ท่านเหล่านั้นถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ยินดีในธุดงค์
เข้าฌาน ใช้จีวรเศร้าหมอง ยินดียิ่งในความสงัด
เป็นนักปราชญ์ แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[308] ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ปฏิบัติ(พรั่งพร้อมด้วยมรรค)
ดำรงอยู่ในผล และเป็นพระเสขะพรั่งพร้อมด้วยผล3
มุ่งหวังประโยชน์อย่างสูงสุด(คือพระนิพพาน)
แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ

เชิงอรรถ :
1 ดอกไม้คือวิมุตติ หมายถึงอรหัตตผลวิมุตติ (ขุ.อป.อ. 1/302/279)
2 พุทธเขต หมายถึงมีแสนโกฏิจักรวาล (ขุ.อป.อ. 1/303/280)
3 ผล ในที่นี้หมายถึงผลเบื้องต่ำ 3 คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล (ขุ.อป.อ. 1/308/280)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :48 }