เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 1. สารีปุตตเถราปทาน
[272] คนที่ต้องการแก่นไม้ตัดต้นกล้วยแล้วผ่า
ก็จะไม่พึงได้แก่นไม้ในต้นกล้วยนั้น
เขาย่อมเป็นผู้ไร้แก่นไม้ ฉันใด
[273] เหล่าเดียรถีย์ทั้งหลายในโลกก็ฉันนั้น
มีทิฏฐิต่างกัน ถึงจะมีจำนวนมาก
ก็เป็นผู้ว่างเปล่าจากนิพพานอันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้
ดุจต้นกล้วยว่างเปล่าจากแก่นไม้ ฉะนั้น
[274] เมื่อภพสุดท้ายมาถึง ข้าพเจ้าเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์
ได้ละทิ้งโภคสมบัติมากมายแล้วออกบวชเป็นบรรพชิต
ภาณวารที่ 1 จบ

[275] (พระสารีบุตรเถระกราบทูลว่า)1
ข้าพระองค์อยู่ในสำนักของพราหมณ์นามว่าสัญชัย
ซึ่งเป็นผู้คงแก่เรียน ทรงมนตร์ จบไตรเพท
[276] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พราหมณ์นามว่าอัสสชิ
สาวกของพระองค์ ซึ่งหาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
มีเดชแผ่ไป เที่ยวบิณฑบาตในครั้งนั้น
[277] ข้าพระองค์ได้เห็นท่านผู้ประเสริฐนั้น ผู้มีปัญญา
เป็นมุนี มีจิตตั้งมั่นในความเป็นมุนี
มีจิตสงบ เบิกบานดุจดอกปทุมที่แย้มบาน
[278] เพราะเห็นท่านผู้ฝึกฝนดีแล้ว
มีจิตบริสุทธิ์ องอาจ ประเสริฐ มีความเพียร
ความคิดของข้าพเจ้าจึงเกิดขึ้นว่า
ท่านผู้นี้คงจะเป็นพระอรหันต์

เชิงอรรถ :
1 ตั้งแต่คาถานี้ไปพระเถระได้กราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทราบเรื่องราวของท่าน สมตามข้อความในธรรม
บทอรรถกถาด้วย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :44 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 1. สารีปุตตเถราปทาน
[279] ท่านผู้นี้ เคลื่อนไหวกิริยาท่าทางน่าเลื่อมใส
รูปงาม สำรวมดี ฝึกฝนแล้วในอุบายเครื่องฝึกอย่างสูงสุด
คงจะเป็นผู้เห็นทางอมตะ
[280] ทางที่ดี เราควรจะถามท่านผู้มีประโยชน์อย่างสูงสุด
ผู้มีจิตยินดี หากท่านถูกเราถามแล้วจักตอบ
เราก็จะย้อนถามท่านอีก ในครั้งนั้น
[281] ข้าพระองค์ได้เดินตามไปข้างหลังท่านผู้กำลังเที่ยวบิณฑบาต
รอคอยโอกาสอยู่เพื่อจะสอบถามทางอมตะ
[282] จึงเข้าไปหาท่านซึ่งอยู่ในระหว่างถนนแล้วถามว่า
ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ผู้มีความเพียร
ท่านมีโคตรตระกูลอย่างไร เป็นศิษย์ของใคร
[283] ท่านถูกข้าพระองค์ถามแล้วก็ไม่ครั่นคร้าม
เป็นดังพญาไกรสรราชสีห์ตอบว่า
ท่านผู้มีอายุ พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก
อาตมาเป็นศิษย์ของพระองค์
[284] (ข้าพระองค์ได้ถามต่อไปว่า)
ข้าแต่ท่านผู้มีความเพียรมาก ท่านผู้มียศยิ่งใหญ่เกิดตามมา
ศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าของท่านเป็นเช่นไร
ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอโอกาส
ขอท่านโปรดบอกแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
[285] ท่านถูกข้าพระองค์ถามแล้ว
จึงแสดงบททุกบทที่ลึกซึ้งละเอียด
สำหรับกำจัดลูกศรคือตัณหา
สำหรับเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวงว่า
[286] ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ
พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :45 }