เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 1. สารีปุตตเถราปทาน
[218] (ดาบสสุรุจิกล่าวชมเชยพระผู้มีพระภาคอโนมทัสสีว่า)1
ข้าแต่พระสยัมภู ผู้มีพระคุณหาประมาณมิได้
ขอพระองค์จงทรงช่วยสัตว์โลกนี้ให้พ้นจากสังสารวัฏเถิด2
สัตว์เหล่านั้นอาศัยการพบเห็นพระองค์แล้ว
จะข้ามกระแสแห่งความสงสัยได้
[219] พระองค์ทรงเป็นศาสดา เป็นยอด
เป็นธงชัย เป็นเสาหลัก เป็นจุดมุ่งหมาย เป็นที่พึ่ง
เป็นดุจดวงประทีปของเหล่าสัตว์
เป็นผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
[220] ข้าแต่พระสัพพัญญู
น้ำในมหาสมุทรสามารถที่จะประมาณได้ด้วยมาตราตวง
แต่พระญาณของพระองค์ไม่มีใครสามารถจะประมาณได้เลย
[221] ข้าแต่พระสัพพัญญู
แผ่นดินยังสามารถที่จะนำมาวางไว้บนตราชั่งแล้วชั่งดูได้
แต่พระญาณของพระองค์ ไม่มีใครสามารถจะชั่งดูได้
[222] ข้าแต่พระสัพพัญญู
อากาศยังสามารถที่จะใช้เชือกหรือนิ้วมือวัดดูได้
แต่พระญาณของพระองค์ ไม่มีใครสามารถจะวัดดูได้
[223] น้ำในมหาสมุทรทั้งหมดและแผ่นดินทั้งสิ้น
บุคคลก็ยังข้ามได้ แต่พระพุทธญาณ
ไม่ควรโดยการนำมาเปรียบเทียบ

เชิงอรรถ :
1 พระดาบสสุรุจิเป็นอดีตชาติของพระสารีบุตรเถระได้พบพระพุทธเจ้าอโนมทัสสี ตามข้อความในคาถาข้างต้น
ได้กล่าวชมเชยพระองค์
2 พ้นจากสังสารวัฏ หมายถึงให้สิ้นจากสงสารแล้วให้ถึงฝั่งคือพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. 1/218/270)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :37 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 1. สารีปุตตเถราปทาน
[224] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ1
จิตของสัตว์เหล่าใดแล่นไปในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
สัตว์ผู้มีจิตเหล่านั้นได้อยู่ในข่ายคือญาณของพระองค์
[225] ข้าแต่พระสัพพัญญู
พระองค์ทรงบรรลุพระโพธิญาณ2อย่างสูงสุดทั้งสิ้นด้วยพระญาณใด
พระองค์ทรงย่ำยีอัญเดียรถีย์ทั้งหลายด้วยพระญาณนั้น
[226] (พระเถระทั้งหลายผู้ทำสังคายนากล่าวว่า)
ท่านสุรุจิดาบสนั้น ครั้นกล่าวคาถาเหล่านี้แล้ว
จึงปูลาดหนังสัตว์นั่งลงบนแผ่นดิน
[227] (ดาบสสุรุจินั่งอยู่ ณ ที่นั้นแล้วกล่าวว่า)
ผู้คนกล่าวกันในบัดนี้ว่า
ขุนเขา3หยั่งลงในห้วงมหรรณพ 84,000 โยชน์
สูงขึ้นไป 84,000 โยชน์เช่นกัน
[228] ภูเขาสิเนรุก็สูงสุดเท่านั้น ภูเขาสิเนรุนั้น
ทั้งด้านยาว ทั้งด้านกว้างถึงเพียงนั้น
ก็ยังถูกบดให้ละเอียดเป็นแสนโกฏิด้วยการนับ
[229] ข้าแต่พระสัพพัญญู เมื่อตั้งคะแนนไว้4
ผงแห่งภูเขาสิเนรุก็จะพึงหมดสิ้นไปก่อน
แต่พระญาณของพระองค์ ไม่มีใครสามารถจะนับได้
[230] ผู้ใดพึงเอาข่ายตาถี่ ๆ ขึงล้อมน้ำไว้
สัตว์น้ำทั้งหมดที่มีอยู่ก็จะพึงเข้าไปอยู่ภายในข่าย ฉันใด

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถ หน้าที่ 36 ในเล่มนี้
2 พระโพธิญาณ หมายถึงพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. 1/225/271)
3 ขุนเขา หมายถึงขุนเขาพระสุเมรุ (ชื่อภูเขากลางจักรวาล มียอดเป็นที่ตั้งแผ่นดินของสวรรค์ดาวดึงส์ซึ่งมี
พระอินทร์อยู่) (ขุ.อป.อ. 1/227/271)
4 ตั้งคะแนน หมายถึงนับพระญาณของพระองค์ (ขุ.อป.อ. 1/229/272)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :38 }