เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 1. สารีปุตตเถราปทาน
[204] ข้าพเจ้าไม่รู้คืนและวัน
ความไม่พอใจมิได้มีแก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าสั่งสอนศิษย์ของตนได้ความร่าเริงอย่างยิ่ง
[205] เมื่อดอกไม้บานและผลไม้สุก
มีกลิ่นทิพย์หอมฟุ้งไป
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[206] ข้าพเจ้าออกจากสมาธิแล้ว
มีความเพียรเผากิเลส มีปัญญารักษาตน
คอนหาบบริขาร(ดาบส)เข้าป่าไป
[207] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ศึกษาจนชำนาญ
ในลางบอกเหตุ ในความฝันและในลักษณะทั้งหลาย
ทรงจำบทแห่งมนตร์ที่แพร่หลายอยู่
[208] พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าอโนมทัสสี
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
ทรงประสงค์วิเวก ตรัสรู้เองโดยชอบ
จึงเสด็จเข้าไปยังป่าหิมพานต์
[209] พระองค์ผู้เป็นมุนีผู้เลิศ
ทรงประกอบด้วยพระกรุณา ผู้สูงสุดแห่งบุรุษ
เสด็จถึงป่าหิมพานต์แล้วประทับนั่งขัดสมาธิ
[210] ข้าพเจ้าได้พบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ทรงมีแสงสว่างเจิดจ้า น่ารื่นรมย์ใจ
ทรงรุ่งเรืองดังดอกบัวเขียว
เป็นดุจแท่นบูชาไฟ สว่างเจิดจ้า
[211] ข้าพเจ้าได้พบเห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ทรงรุ่งเรืองดุจต้นพฤกษาประทีป1

เชิงอรรถ :
1 ต้นพฤกษาประทีป หมายถึงดอกไม้ไฟ โคมไฟ (ขุ.อป.อ. 1/44-55/131, ขุ.พุทฺธ.อ. 45/79,30/189)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :35 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 1. สารีปุตตเถราปทาน
ดุจสายฟ้าสว่างจ้ากลางอากาศ
ดุจต้นพญาไม้สาละ มีดอกบานสะพรั่งอยู่
[212] พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ทรงเป็นผู้ประเสริฐ
มีความเพียรมาก เป็นพระมุนีผู้กระทำที่สุดทุกข์ได้แล้ว
เวไนยสัตว์ได้อาศัยการพบเห็นนี้แล้ว
ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
[213] ครั้นข้าพเจ้าได้เห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพแล้ว
จึงได้ตรวจดูลักษณะว่า เป็นพระพุทธเจ้าหรือมิใช่
เอาละ เราจะดูพระชินเจ้าผู้มีพระจักษุ1
[214] ที่พื้นฝ่าพระบาทอันยอดเยี่ยมปรากฏมีจักรมีกำตั้งพัน
ข้าพเจ้าได้เห็นลักษณะทั้งหลายของพระองค์แล้ว
จึงถึงความแน่ใจในพระตถาคต
[215] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้หยิบไม้กวาดมากวาดสถานที่นั้นแล้ว
ได้นำดอกไม้มา 8 ดอก บูชาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[216] ครั้นข้าพเจ้าบูชาพระพุทธเจ้า ผู้ข้ามพ้นโอฆะได้แล้ว
ไม่มีอาสวะ พระองค์นั้นแล้ว
จึงห่มหนังสัตว์เฉวียงบ่า
นมัสการพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
[217] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีอาสวะ
ประทับอยู่ด้วยพระญาณอันใด
ข้าพเจ้าจักประกาศพระญาณอันนั้น
ขอท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้ากล่าวเถิด

เชิงอรรถ :
1 ผู้มีพระจักษุ หมายถึงทรงมีจักษุ 5 (คือ มังสจักษุ ตาเนื้อ มีพระเนตรงาม มีอำนาจ เห็นแจ่มใส ไว
และเห็นไกล ทิพยจักษุ ตาทิพย์ ปัญญาจักษุ ตาปัญญา พุทธจักษุ ตาพระพุทธเจ้า คือทรงทราบ
อัธยาศัยและอุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์แล้วทรงสั่งสอนแนะนำให้บรรลุคุณวิเศษต่าง ๆ สมันตจักษุ ตาเห็นรอบ
ทรงมีพระสัพพัญญุตญาณหยั่งรู้ธรรมทุกประการ) (ขุ.อป.อ. 1/213/270)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :36 }