เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [19. กุฏชปุปผิยวรรค] 3. โกฏุมพริยเถราปทาน
3. โกฏุมพริยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโกฏุมพริยเถระ
(พระโกฏุมพริยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[12] พระผู้มีพระภาค ผู้รุ่งเรืองดังดอกกรรณิการ์
มีพระคุณหาประมาณมิได้ดุจทะเล แผ่กว้างดังแผ่นดิน
ประทับนั่งอยู่ในระหว่างภูเขา
[13] อันหมู่เทวดาบูชาแล้ว ดุจม้าอาชาไนยตัวองอาจ
ผู้สูงสุดแห่งนรชน
ข้าพเจ้ามีจิตร่าเริง เบิกบาน จึงเข้าเฝ้าพระองค์
[14] ข้าพเจ้าได้ประคองดอกไม้ และผ้าขนสัตว์เนื้อดี
บูชาพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก
[15] ในกัปที่ 31 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[16] ในกัปที่ 20 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งมีพระนามว่ามหาเนละ
มีเดชมาก มีพลานุภาพมาก
[17] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโกฏุมพริยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โกฏุมพริยเถราปทานที่ 3 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :349 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [19. กุฏชปุปผิยวรรค] 4. ปัญจหัตถิยเถราปทาน
4. ปัญจหัตถิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัญจหัตถิยเถระ
(พระปัญจหัตถิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[18] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าติสสะ ผู้เจริญที่สุดในโลก
ทรงองอาจกว่านรชน มีหมู่สาวกห้อมล้อม
เสด็จดำเนินไปตามถนน
[19] ข้าพเจ้าเป็นบุตร
ประสงค์จะถวายเครื่องบูชาเพื่อให้สำเร็จประโยชน์
จึงวางดอกอุบล 5 กำ และ 4 กำ (ไว้ที่ใกล้เท้า)
[20] ข้าพเจ้าสัมผัสพระพุทธรัศมีแล้ว
จึงบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
กำลังเสด็จดำเนินอยู่ในระหว่างร้านตลาด
[21] ในกัปที่ 92 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[22] ในกัปที่ 13 นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 5 ชาติ
พระนามว่าสุลภสัมมตะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ มีพลานุภาพมาก
[23] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปัญจหัตถิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปัญจหัตถิยเถราปทานที่ 4 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :350 }