เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 1. สารีปุตตเถราปทาน
[187] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น ส่งหาบ(บริขารดาบส)
ไปข้างหน้า ส่วนตนเองไปทีหลัง
ท้องฟ้าถูกดาบส 1,024 รูป ปิดบังไว้แล้ว
[188] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น พวกหนึ่งเผา(ผลไม้น้อยใหญ่และผัก)ไฟฉัน
พวกหนึ่งไม่เผาไฟฉันดิบ ๆ พวกหนึ่งกระแทะเปลือกออกฉัน
พวกหนึ่งตำฉัน พวกหนึ่งเอาหินทุบฉัน
พวกหนึ่งฉันผลไม้ที่หล่นเอง
[189] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
พวกหนึ่งรักความสะอาดลงอาบน้ำทั้งเช้าทั้งเย็น
พวกหนึ่งตักน้ำอาบ
[190] ศิษย์ของข้าพเจ้า(ประพฤติวัตร)
ปล่อยเล็บมือเล็บเท้าและขนรักแร้ยาว
ขี้ฟันเขลอะ ศีรษะเปื้อนธุลี
แต่หอมด้วยกลิ่นศีล หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
[191] ดาบสทั้งหลายผู้ทรงชฎา
มีตบะแก่กล้า ประชุมกันแต่เช้าแล้ว
ประกาศลาภน้อย ลาภใหญ่ให้ทราบแล้ว เหาะไปในท้องฟ้า
[192] เมื่อดาบสเหล่านั้นเหาะไป เสียงดังย่อมสะพัดไป
ทวยเทพย่อมยินดีเพราะได้ยินเสียงหนังสัตว์
[193] ฤๅษีผู้เหาะไปทางอากาศไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่
ฤๅษีเหล่านั้นมีกำลังของตนอุปถัมภ์ จึงไปได้ตามปรารถนา
[194] ฤๅษีเหล่านั้นทั้งหมดทำแผ่นดินให้ไหว
เที่ยวไปในอากาศ มีเดชแผ่ไป
ใคร ๆ ไม่อาจข่มได้ ผู้อื่นไม่อาจให้หวั่นไหวได้
ดังสมุทรสาครที่ใครอื่นให้กระเพื่อมไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :33 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 1. สารีปุตตเถราปทาน
[195] ฤๅษีผู้เป็นศิษย์ของข้าพเจ้า
บางพวกยืนและเดินจงกรม บางพวกถือการนั่งเป็นวัตร
บางพวกฉันใบไม้ที่หล่นเอง หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
[196] ศิษย์ของข้าพเจ้าเหล่านั้นมีปกติอยู่ด้วยการแผ่เมตตา
แสวงหาประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์
ไม่ยกตน ไม่ข่มใคร ๆ
[197] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้นไม่สะดุ้งกลัวอะไร
เหมือนราชสีห์ มีกำลังเหมือนพญาคชสาร
หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
เหมือนพญาเสือโคร่ง ย่อมมาอยู่ใกล้ข้าพเจ้า
[198] พวกวิทยาธร พวกเทวดา นาค
คนธรรพ์ ผีเสื้อน้ำ กุมภัณฑ์ ทานพ(อสูร)
ครุฑ อาศัยสระนั้นหากิน
[199] ศิษย์ของข้าพเจ้าเหล่านั้นเกล้าชฎา
คอนบริขาร นุ่งห่มหนังสัตว์
เที่ยวไปในอากาศได้ทุกตน อาศัยสระนั้นหากิน
[200] ครั้งนั้น ศิษย์เหล่านั้นเป็นผู้เหมาะสมกันและกัน
มีความเคารพต่อกันและกัน
ศิษย์ 1,024 คน ไม่มีเสียงไอเสียงจามเลย
[201] ศิษย์เหล่านั้นเดินเข้าแถวกัน เงียบเสียง
สำรวมดี ทั้งหมดเข้ามากราบข้าพเจ้าด้วยเศียรเกล้า
[202] ข้าพเจ้ามีปกติเข้าฌาน ยินดีในฌาน
อยู่ในอาศรมแห่งนั้นมีศิษย์เหล่านั้นแวดล้อม
ซึ่งเป็นผู้สงบ มีตบะ
[203] อาศรมของข้าพเจ้าหอมด้วยกลิ่น 2 อย่าง
คือกลิ่นศีลของเหล่าฤๅษีและกลิ่นดอกไม้
ผลไม้ของต้นไม้ที่ผลิดอกออกผล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :34 }