เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 1. สารีปุตตเถราปทาน
[180] ศิษย์ของข้าพเจ้าสำเร็จอภิญญา
ยินดีในอาหารซึ่งเป็นข้อปฏิบัติของบิดา1
เหาะไปมาทางอากาศได้
เป็นนักปราชญ์ ปรนนิบัติข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ
[181] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น สำรวมทวารทั้ง 6
ไม่หวั่นไหว2 รักษาอินทรีย์ และไม่คลุกคลี
เป็นนักปราชญ์3 หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
[182] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้นหาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
ให้เวลาผ่านไปด้วยการนั่งขัดสมาธิ
การยืน และการจงกรม ตลอดคืน
[183] ศิษย์ของข้าพเจ้าไม่กำหนัดในวัตถุที่น่ากำหนัด
ไม่ขัดเคืองในวัตถุที่น่าขัดเคือง
ไม่ลุ่มหลงในวัตถุที่น่าลุ่มหลง หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
[184] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
ด้วยการแข่งดีทดลองแสดงฤทธิ์อยู่เป็นนิตย์
บันดาลให้แผ่นดินไหวได้
[185] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
เมื่อจะเล่น ก็เล่นฌาน(เข้าฌาน)
ไปนำผลหว้ามาได้
[186] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น พวกหนึ่งไปอปรโคยานทวีป
พวกหนึ่งไปปุพพวิเทหทวีป พวกหนึ่งไปอุตตรกุรุทวีป

เชิงอรรถ :
1 บาลี เปตฺติเก โคจเร รตา ยินดีในอาหารซึ่งเป็นข้อปฏิบัติของบิดา หมายถึงยินดีในอาหารที่ได้ไม่ใช่ออกปากขอ
(ขุ.อป.อ. 1/180/264)
2 ไม่หวั่นไหว ในที่นี้หมายถึงไม่มีตัณหาเป็นเหตุให้หวั่นไหว (ขุ.อป.อ. 1/181/265)
3 เป็นนักปราชญ์ ในที่นี้หมายถึงเป็นผู้มั่นคง ไม่สะทกสะท้านถึงอันตรายที่เกิดจากสัตว์มีราชสีห์และเสือ
เป็นต้น (ขุ.อป.อ. 1/180/265)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :32 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 1. สารีปุตตเถราปทาน
[187] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น ส่งหาบ(บริขารดาบส)
ไปข้างหน้า ส่วนตนเองไปทีหลัง
ท้องฟ้าถูกดาบส 1,024 รูป ปิดบังไว้แล้ว
[188] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น พวกหนึ่งเผา(ผลไม้น้อยใหญ่และผัก)ไฟฉัน
พวกหนึ่งไม่เผาไฟฉันดิบ ๆ พวกหนึ่งกระแทะเปลือกออกฉัน
พวกหนึ่งตำฉัน พวกหนึ่งเอาหินทุบฉัน
พวกหนึ่งฉันผลไม้ที่หล่นเอง
[189] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
พวกหนึ่งรักความสะอาดลงอาบน้ำทั้งเช้าทั้งเย็น
พวกหนึ่งตักน้ำอาบ
[190] ศิษย์ของข้าพเจ้า(ประพฤติวัตร)
ปล่อยเล็บมือเล็บเท้าและขนรักแร้ยาว
ขี้ฟันเขลอะ ศีรษะเปื้อนธุลี
แต่หอมด้วยกลิ่นศีล หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
[191] ดาบสทั้งหลายผู้ทรงชฎา
มีตบะแก่กล้า ประชุมกันแต่เช้าแล้ว
ประกาศลาภน้อย ลาภใหญ่ให้ทราบแล้ว เหาะไปในท้องฟ้า
[192] เมื่อดาบสเหล่านั้นเหาะไป เสียงดังย่อมสะพัดไป
ทวยเทพย่อมยินดีเพราะได้ยินเสียงหนังสัตว์
[193] ฤๅษีผู้เหาะไปทางอากาศไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่
ฤๅษีเหล่านั้นมีกำลังของตนอุปถัมภ์ จึงไปได้ตามปรารถนา
[194] ฤๅษีเหล่านั้นทั้งหมดทำแผ่นดินให้ไหว
เที่ยวไปในอากาศ มีเดชแผ่ไป
ใคร ๆ ไม่อาจข่มได้ ผู้อื่นไม่อาจให้หวั่นไหวได้
ดังสมุทรสาครที่ใครอื่นให้กระเพื่อมไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :33 }