เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 1. สารีปุตตเถราปทาน
[168] ต้นคำ1 ต้นสน ต้นกระทุ่ม
สะพรั่งด้วยผลมีรสหวาน เผล็ดผลเป็นประจำ
อยู่ไม่ไกลอาศรมของข้าพเจ้า
[169] ต้นสมอไทย ต้นมะขามป้อม ต้นมะม่วง ต้นหว้า
ต้นสมอพิเภก ต้นกระเบา ต้นรกฟ้า
ต้นมะตูม เหล่านั้น เผล็ดผลเป็นนิตย์
[170] มันเทศ มันอ้อน มันมือเสือ หัวหอม หัวกระเทียม2
ต้นกะเม็ง3 ต้นขัดมอน4
มีอยู่มากมายใกล้ ๆ อาศรมของข้าพเจ้า
[171] ใกล้ ๆ อาศรม(ของข้าพเจ้า)มีบึงน้ำที่บุญกรรมเนรมิตไว้อย่างดี
มีน้ำใสเย็นสนิท มีท่าน้ำราบเรียบ เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ
[172] (สระน้ำเหล่านั้น) ดารดาษด้วยดอกบัวหลวง ดอกบัวขาบ5
สะพรั่งด้วยบัวขาว ดารดาษด้วยบัวเฝื่อน
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
[173] ครั้งนั้น6 ข้าพเจ้าอยู่ในอาศรม
ซึ่งสร้างไว้อย่างดี น่ารื่นรมย์ ในป่ามีไม้ดอกไม้ผล
สมบูรณ์ด้วยองค์ประกอบทุกอย่าง ดังกล่าวมานี้
[174] ข้าพเจ้าเป็นดาบสชื่อสุรุจิ มีศีล7
สมบูรณ์ด้วยข้อวัตร มีปกติเพ่งฌาน

เชิงอรรถ :
1 ไม้พุ่มชนิดหนึ่ง ต้นแสด หรือต้นคำแสด ก็เรียก
2 ต้นดอกซ่อนกลิ่น
3 ต้นไม้ขนาดเล็ก ต้นสีม่วง ใบเขียวขนคาย ดอกขาว ใช้ทำยารักษาโรคเด็ก
4 ต้นข้าวต้ม ต้นขัดมอน ก็เรียก เปลือกเหนียว ดอกเหลือง เป็นสมุนไพรอย่างหนึ่ง ใช้ทำไม้กวาดได้
5 บัวสีน้ำเงินแก่อมม่วง
6 ครั้งนั้น ในที่นี้หมายถึงในครั้งที่ข้าพเจ้าเป็นดาบส (ขุ.อป.อ. 1/173/262)
7 มีศีล ในที่นี้หมายถึงศีล 5 (ขุ.อป.อ. 1/174/262)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :30 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 3. เถราปทาน 1. สารีปุตตเถราปทาน
ยินดีในฌานในกาลทุกเมื่อ
สำเร็จอภิญญาพละ 51 ประการ
[175] ข้าพเจ้ามีศิษย์ 1,024 คน ทั้งหมดนั้น
เป็นพราหมณ์ มีชาติตระกูล มียศ
ปรนนิบัติข้าพเจ้าอยู่
[176] ศิษย์ของข้าพเจ้าเข้าใจตัวบท(หลักไวยากรณ์)
ฉลาดในการพยากรณ์ สำเร็จวิชาทำนายลักษณะ
วิชาอิติหาสศาสตร์ และไตรเพทอันเป็นธรรมของตน
พร้อมทั้งวิชานิฆัณฑุศาสตร์ และวิชาเกฏุภศาสตร์2
[177] ศิษย์ของข้าพเจ้าฉลาดในลางบอกเหตุ
ในนิมิตร และในลักษณะ
เป็นผู้ศึกษาดีแล้วในเรื่องดิน
ในภาคพื้นดิน และในอากาศ
[178] ศิษย์เหล่านั้นเป็นผู้มักน้อย
มีปัญญารักษาตน บริโภคแต่น้อย ไม่โลภ
สันโดษตามมีตามได้ ปรนนิบัติข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ
[179] ศิษย์ของข้าพเจ้ามีปกติเพ่งฌาน ยินดีในฌาน
เป็นนักปราชญ์ มีจิตสงบ มีจิตตั้งมั่น
ปรารถนาความหมดกังวล ปรนนิบัติข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ

เชิงอรรถ :
1 อภิญญาพละ 5 คือ แสดงฤทธิ์ได้ หูทิพย์ รู้ใจผู้อื่น ระลึกชาติได้ และตาทิพย์ (ขุ.อป.อ. 1/174/263)
2 วิชาทำนายลักษณะ หมายถึงคัมภีร์ประกาศลักษณะของหญิงและบุรุษชาวโลกทั้งหมดมีทุกข์และสุข
อิติหาสศาสตร์ หมายถึงคัมภีร์ชี้แจงคำพูดที่ท่านกล่าวว่า อิติห อาสา
นิฆัณฑุศาสตร์ หมายถึงคัมภีร์ประกาศชื่อต้นไม้และภูเขาเป็นต้น
เกฏุภศาสตร์ หมายถึงคัมภีร์ว่าด้วยวิชาการกวี (ขุ.อป.อ. 1/176/263, ดูเชิงอรรถเล่ม 9 ข้อ 256)
ไตรเพท หมายถึงพระเวท 3 คือ ฤคเวท ยชุรเวท และสามเวท (องฺ.ติก.อ. 2/59/163)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :31 }