เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [14. โสภิตวรรค] 6. จัมปกปุปผิยเถราปทาน
[39] ในกัปที่ 27 (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดินามว่าสิรีธระ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ มีพลานุภาพมาก
[40] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระรโหสัญญิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
รโหสัญญิกเถราปทานที่ 5 จบ

6. จัมปกปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระจัมปกปุปผิยเถระ
(พระจัมปกปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[41] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเวสสภู
ผู้โชติช่วงดังดอกกรรณิการ์ ประทับนั่งอยู่ระหว่างภูเขา
ทรงทำทิศทั้งปวงให้สว่าง ดังดาวประกายพรึก
[42] ได้มีมาณพ 3 คน เป็นผู้ศึกษาดีแล้วในศิลปะของตน
คอนสาแหรกบริขารเดินตามหลังข้าพเจ้าไป
[43] ข้าพเจ้าผู้มีตบะ ได้เก็บดอกจำปา 7 ดอกใส่ไว้ในกระจาด
ข้าพเจ้าถือดอกไม้เหล่านั้นไปบูชาพระญาณ
ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าเวสสภู
[44] ในกัปที่ 31 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระญาณ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :299 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [14. โสภิตวรรค] 7. อัตถสันทัสสกเถราปทาน
[45] ในกัปที่ 29 ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดินามว่าวิหตาภาส
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ มีพลานุภาพมาก
[46] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระจัมปกปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
จัมปกปุปผิยเถราปทานที่ 6 จบ

7. อัตถสันทัสสกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอัตถสันทัสสกเถระ
(พระอัตถสันทัสสกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[47] ข้าพเจ้านั่งอยู่ในโรงกว้างใหญ่
ได้เห็นพระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
สิ้นอาสวะแล้ว บรรลุพลธรรม1 มีหมู่ภิกษุห้อมล้อม
[48] ภิกษุสงฆ์ประมาณ 100,000 รูป
บรรลุวิชชา 3 ได้อภิญญา 6 มีฤทธิ์มาก
แวดล้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ใครเล่าเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใส
[49] การเปรียบเทียบในพระญาณ
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด
ไม่มีในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้มีพระญาณไม่สิ้นสุด
ใครเล่าเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใส

เชิงอรรถ :
1 พลธรรม ได้แก่ วิริยพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ (ที.ปา. 11/311/204)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :300 }