เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [14. โสภิตวรรค] 4. ปุปผฉทนิยเถราปทาน
4. ปุปผฉทนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปุปผฉทนิยเถระ
(พระปุปผฉทนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[26] พราหมณ์มีนามว่าสุนันทะ
เป็นผู้คงแก่เรียน จบมนตร์ เป็นผู้ควรแก่การขอ
ได้บูชายัญชื่อว่าวาชเปยยะ (กล่าวคำอ่อนหวาน)
[27] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงรู้แจ้งโลก ทรงเป็นผู้เลิศ ทรงเป็นฤๅษี
ประกอบด้วยพระกรุณา ทรงอนุเคราะห์หมู่ชน
เสด็จจงกรมในอากาศ
[28] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้สัพพัญญู
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ไม่มีอุปธิ
ครั้นเสด็จจงกรมแล้ว
ทรงแผ่เมตตาไปในหมู่สัตว์หาประมาณมิได้
[29] พราหมณ์ผู้จบมนตร์ เด็ดดอกไม้ที่ขั้วแล้ว
ประชุมศิษย์ทั้งหมด ให้ช่วยกันโยนดอกไม้ขึ้นไปในอากาศ
[30] ครั้งนั้น หลังคาดอกไม้ได้มีทั่วนคร
ไม่หายไปตลอด 7 วัน ด้วยพุทธานุภาพ
[31] ด้วยกุศลมูลนั้นนั่นเอง (ข้าพเจ้า) ได้เสวยสมบัติ
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว
ข้ามกระแสตัณหาที่ซ่านไปในโลกได้แล้ว
[32] ในกัปที่ 111 (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิ 35 ชาติ
มีพระนามว่าอัมพรังสะ มีพลานุภาพมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :297 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [14. โสภิตวรรค] 5. รโหสัญญิกเถราปทาน
[33] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปุปผฉทนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปุปผฉทนิยเถราปทานที่ 4 จบ

5. รโหสัญญิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระรโหสัญญิกเถระ
(พระรโหสัญญิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[34] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์
มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อว่าวสภะ
เขาได้สร้างอาศรมไว้สำหรับข้าพเจ้าที่เชิงภูเขานั้น
[35] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์
บอกมนตร์แก่ศิษย์ 30,000 คน
รวบรวมศิษย์เหล่านั้นแล้ว เข้าไปอยู่ ณ ที่สมควรแห่งหนึ่ง
[36] ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์ผู้จบมนตร์ นั่ง ณ ที่สมควรแล้ว
แสวงหาพุทธเวท ทำจิตให้เลื่อมใสในพระญาณ
[37] ข้าพเจ้าครั้นทำจิตให้เลื่อมใสในพระญาณนั้นแล้ว
นั่งขัดสมาธิอยู่บนเครื่องลาดใบไม้ ได้สิ้นชีวิตลง ณ ที่นั้น
[38] ในกัปที่ 31 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ความทรงจำไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งความทรงจำในพระญาณ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :298 }