เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [12. มหาปริวารวรรค] 2. สุมังคลเถราปทาน
[12] พระผู้มีพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงสรงสนานและดื่มแล้ว เสด็จขึ้นทรงผ้าผืนเดียว
ประทับยืนเหลียวดูทิศน้อยใหญ่อยู่ ณ ที่นั้น
[13] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเข้าไปในที่อยู่
ได้เห็นพระผู้มีพระภาค ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
มีจิตร่าเริงเบิกบาน ได้ปรบมือ
[14] ข้าพเจ้าประกอบการฟ้อนรำ
การขับร้องและการประโคมดนตรีมีองค์ 5
ถวายพระองค์ ผู้รุ่งเรืองดุจดวงอาทิตย์
ส่องแสงเรืองรองดังทองคำ
[15] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น ๆ ข้าพเจ้าเป็นใหญ่เหนือสัตว์ทั้งปวง
ยศของข้าพเจ้าก็ไพบูลย์
[16] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษอาชาไนย ข้าพระองค์
ขอนอบน้อมพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดแห่งบุรุษ
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์ พระองค์ผู้เป็นพระมุนี
ทรงทำพระองค์ให้ยินดีแล้ว จึงทรงทำผู้อื่นให้ยินดีตาม
[17] ข้าพเจ้าผู้มีวัตรดีงามกำหนดแล้ว นั่งลง ทำความร่าเริง
เข้าไปบำรุงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จึงได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดุสิต
[18] ในกัปที่ 116 นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 18 ชาติ พระนามว่าเอกจินติตะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ มีพลานุภาพมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :263 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [12. มหาปริวารวรรค] 3. สรณคมนิยเถราปทาน
[19] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสุมังคลเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุมังคลเถราปทานที่ 2 จบ

3. สรณคมนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสรณคมนิยเถระ
(พระสรณคมนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[20] สงครามของท้าวเทวราชทั้ง 2 ฝ่าย
ได้ปรากฏประชิดติดกัน เสียงดังกึกก้องได้เป็นไป
[21] พระศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก
ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ประทับยืนอยู่ในอากาศ
ทรงทำมหาชนให้สังเวชแล้ว
[22] เทวดาทั้งปวงมีใจเบิกบาน ต่างวางเกราะและอาวุธ
พร้อมใจกันถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในขณะนั้น
[23] พระศาสดาผู้ทรงอนุเคราะห์ ทรงรู้แจ้งโลก
ทรงทราบความคิดของข้าพเจ้าแล้ว
ทรงเปล่งอาสภิวาจา1 ทำมหาชนให้เย็นใจว่า
[24] บุคคลผู้เกิดเป็นมนุษย์ มีจิตประทุษร้าย
เบียดเบียนสัตว์เพียงตัวเดียว
จะต้องเกิดยังอบายภูมิ เพราะจิตประทุษร้ายนั้น

เชิงอรรถ :
1 อาสภิวาจา หมายถึงวาจาแสดงความเป็นผู้องอาจ วาขาองอาจคือคำประกาศพระองค์ว่าเป็นเอกในโลก
(ที.ม. (แปล) 10/31/14)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :264 }