เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [11. ภิกขทายิวรรค] 1. ภิกขทายกเถราปทาน
11. ภิกขทายิวรรค
หมวดว่าด้วยพระภิกขทายิเป็นต้น
1. ภิกขทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระภิกขทายกเถระ
(พระภิกขทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[1] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
ผู้สมควรรับเครื่องบูชา เสด็จออกจากป่าใหญ่
คือตัณหาเครื่องร้อยรัดมาสู่ความดับ(นิพพาน)
[2] ข้าพเจ้าได้เห็นแล้วจึงได้มอบถวายภิกษาทัพพีหนึ่ง
แด่พระพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
สงบระงับด้วยปัญญา มีความเพียรมาก เป็นผู้คงที่
[3] ข้าพเจ้าเกิดความปลื้มใจเป็นอย่างมากในพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์
ทรงช่วยมหาชนผู้ตามเสด็จพระยุคลบาทให้สงบเย็น
[4] ในกัปที่ 94 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายภิกษา
[5] ในกัปที่ 87 นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 7 ชาติ
มีพระนามว่ามหาเรณุ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :249 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [11. ภิกขทายิวรรค] 2. ญาณสัญญิกเถราปทาน
[6] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระภิกขทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ภิกขทายกเถราปทานที่ 1 จบ

2. ญาณสัญญิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระญาณสัญญิกเถระ
(พระญาณสัญญิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[7] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
ดุจม้าอาชาไนยตัวองอาจ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ดุจช้างมาตังคะตกมัน 3 แห่ง
[8] ทรงทำทิศทั้งปวงให้สว่างไสว ดุจดวงจันทร์ในวันเพ็ญ
เป็นผู้เจริญที่สุดในโลก กำลังเสด็จดำเนินอยู่บนถนน
[9] ข้าพเจ้าได้เห็นแล้วจึงทำจิตให้เลื่อมใสในพระญาณแล้ว
ประคองอัญชลี มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
[10] ในกัปที่ 94 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งความทรงจำในพระญาณ
[11] ในกัปที่ 73 นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 16 ชาติ พระนามว่านรุตตมะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ มีพลานุภาพมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :250 }