เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 2. ปัจเจกพุทธาปทาน
[131] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
ทุกวันนี้ มิตรทั้งหลายมีประโยชน์เป็นเหตุ
จงคบและเสพด้วย มิตรที่ไม่มุ่งประโยชน์หาได้ยาก
มนุษย์ทั้งหลายมีปํญญามุ่งประโยชน์ตน ไม่สะอาด 1
พระปัจเกจพุทธเจ้า จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[132] พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย2 มีศีลบริสุทธิ์ (ด้วยปาริสุทธิศีล 4)
มีปัญญาหมดจดดี มีจิตตั้งมั่น
หมั่นประกอบธรรมเป็นเครื่องตื่น
เห็นแจ้ง(ไตรลักษณ์) เห็นธรรมวิเศษ3
รู้อยู่โดยพิเศษซึ่งอริยธรรมที่ประกอบด้วยองค์มรรคและโพชฌงค์
[133] ธีรชนเหล่าใดเจริญสุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์
และอัปปณิหิตวิโมกข์แล้ว
ยังไม่บรรลุความเป็นสาวกในศาสนาพระชินเจ้า
ธีรชนเหล่านั้นย่อมเป็นพระสยัมภูปัจเจกชินเจ้า
[134] พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมีธรรมยิ่งใหญ่
มีธรรมกายมาก4 มีจิตเป็นอิสระ
ข้ามห้วงแห่งทุกข์ทั้งมวลได้แล้ว มีจิตเบิกบาน
มีปกติเห็นประโยชน์อย่างยิ่ง เหมือนราชสีห์ เหมือนนอแรด
[135] พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้มีอินทรีย์สงบแล้ว มีจิตสงบแล้ว
มีจิตเป็นสมาธิ ประพฤติตอบแทน(ด้วยความเอ็นดูและความกรุณา)

เชิงอรรถ :
1 ไม่สะอาด ในที่นี้หมายถึงประกอบด้วยการกระทำทางกาย วาจา และใจ ในทางไม่ดี (ขุ.อป.อ.
1/131/244)
2 พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวคาถาเฉพาะคาถาที่ 91-131 (ขุ.อป.อ. 1/158-165) ตั้งแต่คาถาที่
132 นี้เป็นต้นไป พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าคุณของพระปัจเจกพุทธเจ้าให้พระอานนทเถระฟังต่อ
3 เห็นธรรมวิเศษ หมายถึงมีปกติเห็นกุศลธรรม 10 สัจจธรรม 4 หรือโลกุตตรธรรม 9 (คือ มรรค 4
ผล 4 นิพพาน 1) โดยวิเศษ (ขุ.อป.อ. 1/132/244)
4 มีธรรมกายมาก ในที่นี้หมายถึงมีกายคือสภาวธรรมมาก (ขุ.อป.อ. 1/134/245)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :24 }