เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [9. ติมิรปุปผิยวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
[54] ในกัปที่ 92 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[55] ในกัปที่ 18 (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 18 ชาติ
พระนามว่าปทุมาภาส
และได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน 48 ชาติ
[56] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปทุมปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปทุมปุปผิยเถราปทานที่ 10 จบ
ติมิรปุปผิยวรรคที่ 9 จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

1. ติมิรปุปผิยเถราปทาน 2. คตสัญญกเถราปทาน
3. นิปันนัญชลิกเถราปทาน 4. อโธปุปผิยเถราปทาน
5. รังสิสัญญกเถราปทาน 6. ทุติยรังสิสัญญกเถราปทาน
7. ผลทายกเถราปทาน 8. สัททสัญญกเถราปทาน
9. โพธิสิญจกเถราปทาน 10. ปทุมปุปผิยเถราปทาน

และท่านประกาศคาถาไว้ 56 คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :237 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [10. สุธาวรรค] 1. สุธาปิณฑิยเถราปทาน
10. สุธาวรรค
หมวดว่าด้วยพระสุธาปิณฑิยะเป็นต้น
1. สุธาปิณฑิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุธาปิณฑิยเถระ
(พระสุธาปิณฑิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[1] สำหรับบุคคลผู้บูชาพระพุทธเจ้า
พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ควรบูชา
ผู้ล่วงพ้นกิเลสเป็นเหตุเนิ่นช้า1
ข้ามความเศร้าโศกและความร่ำไรได้แล้ว
[2] (และ)สำหรับบุคคลผู้บูชาผู้ควรบูชาเหล่านั้น ผู้เช่นนั้น
ผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ ซึ่งนิพพานแล้ว
ใคร ๆ ไม่อาจนับบุญได้ว่า บุญนี้มีประมาณเท่านี้
[3] การที่บุคคลในโลกนี้ พึงครองความเป็นใหญ่แห่งทวีปทั้ง 42
นั้นก็ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ 16 แห่งการบูชานี้เลย
[4] ข้าพเจ้ามีใจผ่องใส
ได้ใส่ก้อนปูนขาวไว้ในระหว่างแผ่นอิฐที่พระเจดีย์
แห่งพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ ผู้เป็นนระผู้เลิศ
[5] ในกัปที่ 94 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการปฏิสังขรณ์

เชิงอรรถ :
1 กิเลสเป็นเหตุเนิ่นช้าหมายถึง ตัณหา มานะ ทิฏฐิ (ที.ม.อ. 2/336)
2 ทวีปทั้ง 4 หมายถึง ชมพูทวีป อปรโคยานทวีป อุตตรกุรุทวีป ปุพพวิเทหทวีป (ขุ.อป.อ. 2/3/138)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :238 }