เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [8. นาคสมาลวรรค] 9. ฐิตัญชลิยเถราปทาน
[38] ข้าพเจ้ามีจิตร่าเริงเบิกบาน บูชาพระองค์ด้วยดอกไม้
นอบน้อมพระพุทธเจ้าพระนามว่าติสสะ ผู้รู้แจ้งโลก
ทรงเป็นที่พึ่ง เป็นเทพของนรชน
[39] ในกัปที่ 92 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยดอกไม้
[40] ในกัปที่ 63 นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่าอภิสัมมตะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ มีพลานุภาพมาก
[41] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปาฏลิปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปาฏลิปุปผิยเถราปทานที่ 8 จบ

9. ฐิตัญชลิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระฐิตัญชลิยเถระ
(พระฐิตัญชลิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[42] เมื่อก่อน ข้าพเจ้าเป็นพรานเนื้ออยู่ในป่าดงทึบ
ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้มีพระลักษณะอันประเสริฐ 32 ประการ ในป่านั้น
[43] ณ ที่นั้น ข้าพเจ้ากระทำอัญชลีแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ประทับนั่งอยู่บนเครื่องลาดใบไม้ประจำ ในที่ไม่ไกล
แล้วบ่ายหน้าหลีกไปทางทิศตะวันออก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :222 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [8. นาคสมาลวรรค] 10. ติปทุมิยเถราปทาน
[44] ลำดับนั้น อสนีบาตได้ตกลงบนกระหม่อมของข้าพเจ้า
ในครั้งนั้น เวลาใกล้ตาย ข้าพเจ้านั้นได้กระทำอัญชลีอีกครั้งหนึ่ง
[45] ในกัปที่ 92 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้กระทำอัญชลีไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการกระทำอัญชลี
[46] ในกัปที่ 54 (นัปจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่ามิคเกตุ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ มีพลานุภาพมาก
[47] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระฐิตัญชลียเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ฐิตัญชลิยเถราปทานที่ 9 จบ

10. ติปทุมิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระติปทุมิยเถระ
(พระติปทุมิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[48] ครั้งนั้น พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง1 ทรงฝึกพระองค์แล้ว
มีสาวกผู้ฝึกตนแวดล้อมแล้ว เสด็จออกจากนคร
[49] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เป็นช่างดอกไม้ อยู่ในกรุงหงสวดี
ได้ถือดอกปทุม 3 ดอก ซึ่งเป็นดอกไม้ชั้นดีเยี่ยมในกรุงนั้น

เชิงอรรถ :
1 ธรรมทั้งปวง หมายถึงโลกุตตรธรรม 9 (ขุ.อป.อ. 2/48/127)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :223 }