เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [7. สกจิตตนิยวรรค] 3. ปัจจาคมนิยเถราปทาน
[11] ในกัปที่ 20 นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่าสุเมธะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ มีพลานุภาพมาก
[12] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอาโปปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อาโปปุปผิยเถราปทานที่ 2 จบ

3. ปัจจาคมนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัจจาคมนิยเถระ
(พระปัจจาคมนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[13] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นนกจักรพาก อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำสินธุ
ข้าพเจ้ากินสาหร่ายล้วน ๆ
และระมัดระวังอย่างดีในกรรมชั่วทั้งหลาย
[14] ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
เสด็จไปในอากาศ จึงคาบดอกสาละ
บูชาพระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
[15] ผู้มีศรัทธาตั้งมั่นด้วยดีไม่หวั่นไหวไว้ในพระตถาคต
จะไม่ไปเกิดยังทุคติเลย ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น
[16] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
ข้าพเจ้าเป็นนกได้ปลูกพืช(กุศล)ที่ดีไว้แล้ว
[17] ในกัปที่ 91 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :204 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [7. สกจิตตนิยวรรค] 4. ปรัปปสาทกเถราปทาน
[18] ในกัปที่ 17 (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 8 ชาติ
พระนามว่าสุจารุทัสสนะ มีพลานุภาพมาก
[19] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปัจจาคมนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปัจจาคมนิยเถราปทานที่ 3 จบ

4. ปรัปปสาทกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปรัปปสาทกเถระ
(พระปรัปปสาทกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[20] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้องอาจ ประเสริฐที่สุด
มีความเพียร แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงชนะวิเศษ
มีพระฉวีวรรณดังทอง ใครเล่าเห็นแล้ว จะไม่เลื่อมใส
[21] พระพุทธเจ้า ทรงมีพระคุณหาผู้เปรียบมิได้
เปรียบดังภูเขาหิมพานต์ (และ) เปรียบดังสาครที่ข้ามได้ยาก
ฌานของพระพุทธเจ้า ก็ฉันนั้น
ใครเล่าเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใส
[22] แผ่นดินที่หาประมาณมิได้
มาลัยประดับศีรษะอย่างวิจิตรฉันใด
ศีลของพระพุทธเจ้า ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ใครเล่าเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใส
[23] ลมที่ใคร ๆ ทำให้ปั่นป่วนไม่ได้
อากาศที่ใคร ๆ นับไม่ได้ ฉันใด
พระญาณของพระพุทธเจ้าก็ฉันนั้น
ใครเล่าเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :205 }