เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [7. สกจิตตนิยวรรค] 1. สกจิตตนิยเถราปทาน
7. สกจิตตนิยวรรค
หมวดว่าด้วยพระสกจิตตนิยะเป็นต้น
1. สกจิตตนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสกจิตตนิยเถระ
(พระสกจิตตนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[1] ข้าพเจ้าได้เห็นป่าใหญ่ดงทึบ
สงัดเงียบปราศจากอันตราย
เป็นที่อยู่ของพวกฤๅษี ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
[2] ข้าพเจ้าจึงนำไม้ไผ่มาทำเป็นสถูปแล้ว
โปรยดอกไม้ต่าง ๆ ลง
ได้ไหว้พระสถูปที่ข้าพเจ้าสร้างแล้ว
เหมือนได้อภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเฉพาะพระพักตร์
[3] ข้าพเจ้าได้เป็นพระราชาสมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ
เป็นใหญ่ในแว่นแคว้น พอใจกรรมของตน
นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยดอกไม้
[4] ในกัปที่ 91 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[5] ในกัปที่ 80 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าอนันตยสะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง 4

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :202 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [7. สกจิตตนิยวรรค] 2. อาโปปุปผิยเถราปทาน
[6] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสกจิตตนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สกจิตตนิยเถราปทานที่ 1 จบ

2. อาโปปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอาโปปุปผิยเถระ
(พระอาโปปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[7] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิขี
เสด็จออกจากวิหาร แล้วเสด็จขึ้นที่จงกรม
เมื่อประกาศสัจจะ 4 ทรงแสดงอมตบท
[8] ข้าพเจ้ารู้พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
พระนามว่าสิขี ผู้คงที่แล้ว
จึงจับดอกไม้ต่าง ๆ โยนขึ้นไปในอากาศ
[9] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
ด้วยผลกรรมนั้น ข้าพระองค์ละความชนะและความแพ้ได้แล้ว1
บรรลุฐานะที่ไม่หวั่นไหว2
[10] ในกัปที่ 31 นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยดอกไม้

เชิงอรรถ :
1 ความชนะ ในที่นี้หมายถึงทิพยสมบัติและมนุษยสมบัติ (ขุ.อป.อ. 2/9/107)
ความแพ้ ในที่นี้หมายถึงทุกข์ในอบาย 4 (ขุ.อป.อ. 2/9/107)
2 ฐานะที่ไม่หวั่นไหว ในที่นี้หมายถึงพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. 2/9/107)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :203 }