เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [6. วีชนีวรรค] 7. ปัญจทีปกเถราปทาน
[48] ข้าพเจ้าสำรวมในพระปาติโมกข์และในอินทรีย์ 5
หมั่นประกอบวิเวกอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[49] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสปริวาราสนเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สปริวาราสนเถราปทานที่ 6 จบ

7. ปัญจทีปกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัญจทีปกเถระ
(พระปัญจทีปกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[50] ข้าพเจ้าเชื่อสนิทในพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้า
พระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงอนุเคราะห์สัตว์ทั้งปวง
จึงได้เป็นผู้มีความเห็นตรง
[51] ข้าพเจ้าได้ถวายประทีป แวดล้อมไว้ที่ต้นโพธิ์
ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเชื่ออยู่ จึงทำการบูชาด้วยประทีปไว้
[52] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น ๆ เทวดาย่อมถือดวงไฟไว้ในอากาศ
นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยประทีป
[53] ข้าพเจ้าสามารถมองเห็นได้ทะลุฝา ทะลุกำแพงศิลา
ทะลุภูเขาได้ร้อยโยชน์โดยรอบ
[54] ด้วยผลกรรมที่เหลืออยู่นั้น
ข้าพเจ้าเป็นผู้บรรลุความสิ้นอาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :195 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [6. วีชนีวรรค] 8. ธชทายกเถราปทาน
ข้าพเจ้าทรงร่างกายอันมีในภพสุดท้าย
อยู่ในศาสนาของพระผู้มีพระภาค
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์
[55] ในกัปที่ 3,400 (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่าสตจักษุ
มีเดชมาก มีพลานุภาพมาก
[56] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปัญจทีปกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปัญจทีปกเถราปทานที่ 7 จบ

8. ธชทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระธชทายกเถระ
(พระธชทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[57] ข้าพเจ้ามีจิตร่าเริง เบิกบาน
ได้ยกธงขึ้นปักไว้ที่โคนต้นโพธิ์
ซึ่งเป็นต้นไม้ประเสริฐของพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
[58] ข้าพเจ้าเก็บใบโพธิ์ที่หล่นนำไปทิ้งภายนอก
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้หมดจดทั้งภายในทั้งภายนอก
ผู้หลุดพ้นดีแล้ว หาอาสวะมิได้
[59] ข้าพเจ้าได้ไหว้ต้นโพธิ์ที่ประเสริฐ
เหมือนได้อภิวาท พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา เฉพาะพระพักตร์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :196 }