เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 2. ปัจเจกพุทธาปทาน
[97] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
ในท่ามกลางสหายย่อมมีการเล่น มีความยินดี
และในบุตรก็ย่อมมีความรักอันไพบูลย์
บุคคลเมื่อรังเกียจความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[98] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งเปล่งอุทานว่า)
พระปัจเจกพุทธเจ้าแผ่เมตตาไปทั้ง 4 ทิศ ไม่ขัดเคือง
ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้
ครอบงำอันตรายทั้งหลายและไม่หวาดเสียว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[99] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
แม้บรรพชิตพวกหนึ่งและคฤหัสถ์ที่กำลังครองเรือน
ก็สงเคราะห์ยาก
บุคคลพึงเป็นผู้ขวนขวายน้อยทั้งในผู้อื่นและในบุตร
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[100] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้กล้าหาญ
ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว
ตัดเครื่องผูกพันของคฤหัสถ์แล้ว
เหมือนต้นทองหลางที่ใบร่วงหล่นแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[101] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
ถ้าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกัน เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว
พึงมีใจแช่มชื่น มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :16 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 2. ปัจเจกพุทธาปทาน
[102] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
ถ้าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกัน เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
ก็พึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเถิด
เหมือนพระราชาทรงละทิ้งแคว้นที่ทรงชนะแล้ว
ทรงประพฤติอยู่พระองค์เดียว
เหมือนช้างมาตังคะละทิ้งโขลงอยู่ตัวเดียวในป่า ฉะนั้น
[103] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
เราสรรเสริญสหายสัมปทาโดยแท้
บุคคลควรคบหาสหายผู้ประเสริฐสุด (หรือ) ผู้เสมอกัน
ถ้าบุคคลไม่ได้สหายเหล่านี้
พึงเป็นผู้บริโภคปัจจัยอันไม่มีโทษ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[104] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
บุคคลเห็นกำไลทอง 2 วง อันสุกปลั่ง
ที่ช่างทองทำสำเร็จอย่างดี กระทบกันอยู่ที่ข้อมือแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[105] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งเปล่งอุทานว่า)
ด้วยอาการอย่างนี้ การกล่าววาจา
หรือความเกี่ยวข้องกับเพื่อน พึงมีแก่เรา
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นภัยนี้ต่อไป
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[106] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
เพราะกามทั้งหลาย1 สวยงาม มีรสอร่อย
น่ารื่นเริงใจ ยั่วยวนจิตด่วยอารมณ์หลายรูปแบบ

เชิงอรรถ :
1 กามทั้งหลาย หมายถึงกาม 2 อย่าง คือ วัตถุกามและกิเลสกาม วัตถุกาม ได้แก่ วัตถุภายนอกที่
มองเห็นได้มีรูปสวย ๆ งาม ๆ เป็นต้น กิเลสกาม ได้แก่ ความปรารถนาแห่งกิเลสมีราคะ เป็นต้น (ขุ.อป.อ.
1/106/213)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :17 }