เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [3. สุภูติวรรค] 4. ปัญจสีลสมาทานิยเถราปทาน
[149] ข้าพเจ้ารักษาศีล 5 แล้ว ย่อมได้เหตุ 3 ประการ
คือเป็นผู้มีอายุยืน มีโภคสมบัติมาก และมีปัญญาเฉียบแหลม
[150] เมื่อข้าพเจ้าท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่
ประกาศคุณของศีลทั้งปวง
และความเพียรเยี่ยงบุรุษที่มีประมาณยิ่ง
ข้าพเจ้าจึงได้ฐานะเหล่านี้
[151] สาวกของพระชินเจ้า
ประพฤติอยู่ในศีลมีอานิสงส์นับมิได้
ถ้าจะพึงยินดีในภพ พึงมีผลเช่นไร
[152] ศีล 5 ข้าพเจ้าผู้เป็นลูกจ้าง
มีความเพียรบำเพ็ญดีแล้ว
ข้าพเจ้าจึงพ้นจากเครื่องผูกทั้งปวงได้ในวันนี้เพราะศีลนั้น
[153] ในกัปที่นับมิได้ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้ารักษาศีล 5 แล้ว
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลของศีล 5
[154] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปัญจสีลสมาทานิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วย
ประการฉะนี้
ปัญจสีลสมาทานิยเถราปทานที่ 4 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :141 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [3. สุภูติวรรค] 5. อันนสังสาวกเถราปทาน
5. อันนสังสาวกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอันนสังสาวกเถระ
(พระอันนสังสาวกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[155] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
กำลังเสด็จไปในระหว่างร้านตลาด
มีลักษณะอันประเสริฐ 32 ประการ1 คล้ายแท่งทองคำ
[156] พระนามว่าสิทธัตถะ ดังดวงประทีปส่องโลกให้สว่างโชติช่วง
ผู้มีพระคุณหาประมาณมิได้
หาใครเปรียบเทียบมิได้ ทรงฝึกฝนพระองค์แล้ว
ทรงไว้ซึ่งความรุ่งเรือง
ข้าพเจ้าได้เห็นแล้ว ได้ปีติอย่างยิ่ง

เชิงอรรถ :
1 ลักษณะอันประเสริฐ 32 ประการ คือ (1) มีพระบาทราบเสมอกัน (2) พื้นใต้พระบาททั้ง 2 มีจักร
ปรากฏข้างละ 1,000 ซี่ มีกงและดุม มีส่วนประกอบครบบริบูรณ์ทุกอย่าง (3) ทรงมีส้นพระบาทยาว
(4) มีองคุลียาว (5) ทรงมีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม (6) ทรงมีลายดุจตาข่ายที่ฝ่าพระหัตถ์
และฝ่าพระบาท (7) ทรงมีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ (8) ทรงมีพระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย (9) เมื่อ
ประทับยืน ไม่ต้องทรงก้มก็ทรงลูบคลำถึงพระชานุได้ด้วยพระหัตถ์ทั้ง 2 ได้ (10) ทรงมีพระคุยหฐาน
เร้นอยู่ในฝัก (11) ทรงมีพระฉวีรรณงดงามดุจหุ้มด้วยทองคำ (12) ทรงมีพระฉวีวรรณละเอียดจน
ละอองธุลีไม่เกาะติดพระวรกาย (13) ทรงมีพระโลมชาติงอกเส้นเดียวในแต่ละขุม (14) ทรงมีพระโลม
ชาติสีเข้มเหมือนดอกอัญชันขดเป็นลอนเวียนขวามีปลายตั้งขึ้น (15) ทรงมีพระวรกายตรงดุจกายพรหม
(16) ทรง มีพระมังสะพูนเต็มในที่ 7 แห่ง (คือ หลังพระหัตถ์ทั้ง 2 หลังพระบาททั้ง 2 พระอังสะทั้ง
2 และ ลำพระศอ) (17) ทรงมีส่วนพระวรกายบริบูรณ์ดุจกึ่งกายท่อนหน้าของพญาราชสีห์ (18) ทรงมี
พระปฤษฎางค์เต็มเรียบเสมอกัน (19) ทรงมีพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลต้นไทร พระกายสูง
เท่ากับวาของพระองค์ (20) ทรงมีพระศอกลมงามเต็มเสมอ (21) ทรงมีเส้นประสาทสำหรับรับรสพระ
กระยาหารได้อย่างดี (22) ทรงมีพระหนุดุจคางราชสีห์ (23) ทรงมีพระทนต์ 40 ซี่ (24) ทรงมีพระทนต์
เรียบเสมอกัน (25) ทรงมีพระทนต์ไม่ห่างกัน (26) ทรงมีพระเขี้ยวแก้วขาวงาม (27) ทรงมีพระทนต์
เรียบเสมอกัน (28) ทรงมีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม ตรัสมีสำเนียงดุจนกการเวก (29) ทรงมีพระเนตร
ดำสนิท (30) ทรงมีดวงพระเนตรแจ่มใสดุจลูกโคเพิ่งคลอด (31) ทรงมีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนง
สีขาวอ่อนเหมือนนุ่น (32) ทรงมีพระเศียรงดงามดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ (ที.ปา. 11/199/
123-127)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :142 }