เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [3. สุภูติวรรค] 3. ติสรณคมนิยเถราปทาน
[117] ข้าพเจ้าเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ 80 ชาติ
มีเหล่านางเทพอัปสรห้อมล้อม ได้เสวยทิพยสุข
[118] ข้าพเจ้าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 75 ชาติ
ได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[119] เมื่อถึงภพสุดท้าย ข้าพเจ้าประกอบแต่บุญกรรม
ได้เกิดในตระกูลพราหมณมหาศาลมั่งคั่งที่สุดในกรุงสาวัตถี
[120] เวลาเย็น (วันหนึ่ง) ข้าพเจ้าต้องการจะเล่น
จึงออกจากนคร มีพวกเด็ก ๆ ห้อมล้อม เข้าไปยังสังฆาราม
[121] ณ ที่นั้น ข้าพเจ้าได้พบสมณะรูปหนึ่งผู้หลุดพ้น ไม่มีอุปธิ
ท่านแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า และได้ให้สรณะแก่ข้าพเจ้า
[122] ข้าพเจ้านั้นฟังสรณะแล้ว ระลึกถึงสรณะของข้าพเจ้าได้
นั่งอยู่บนอาสนะเดียวได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว
[123] ข้าพเจ้าเกิดได้ 7 ขวบ ก็ได้บรรลุอรหัตตผล
พระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ
ทรงรู้คุณสมบัติของข้าพเจ้าแล้ว จึงประทานอุปสมบทให้
[124] ในกัปที่นับมิได้ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถึงสรณะทั้งหลาย
กรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วเพียงนั้น
แสดงผลแก่ข้าพเจ้าในอัตภาพสุดท้ายนี้
[125] สรณะข้าพเจ้า ก็รักษาไว้ดีแล้ว
ใจข้าพเจ้า ก็ได้ตั้งไว้มั่นแล้ว
ข้าพเจ้าจึงเสวยยศทุกอย่างแล้ว
ได้บรรลุบทที่ไม่หวั่นไหว(คือนิพพาน)
[126] บรรดาท่านที่ต้องการจะฟังจงฟังข้าพเจ้ากล่าว
ข้าพเจ้าจักบอกบทอันเป็นประโยชน์ที่ข้าพเจ้าเห็นเองแก่ท่านทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :137 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [3. สุภูติวรรค] 3. ติสรณคมนิยเถราปทาน
[127] พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก
ศาสนาของพระชินเจ้าแผ่ไปอยู่
พระองค์ทรงลั่นอมตเภรีบรรเทาลูกศรคือความเศร้าโศกได้
[128] ท่านทั้งหลายควรทำอธิการ1
ในนาบุญที่ยอดเยี่ยมตามกำลังของตน
ท่านทั้งหลายจักพบพระนิพพาน
[129] ท่านทั้งหลายจงรับสรณะ 3 จงรักษาศีล 5
ทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าแล้วจักทำที่สุดทุกข์ได้
[130] พวกท่านทุกคนจงถือข้าพเจ้าเป็นตัวอย่าง
รักษาศีลแล้วก็จักบรรลุอรหัตตผลได้โดยไม่นานเลย
[131] (พระติสรณคมนิยเถระกราบทูลว่า)
ข้าพระองค์เป็นผู้ได้วิชชา 3 มีฤทธิ์
ฉลาดในเจโตปริยญาณ ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระองค์
ขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระศาสดา
[132] ในกัปที่นับมิได้ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพระองค์ได้ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถึงสรณะ
[133] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพระองค์ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระติสรณคมนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ติสรณคมนิยเถราปทานที่ 3 จบ

เชิงอรรถ :
1 อธิการ หมายถึงการสะสมบุญอันเป็นการทำที่ยิ่ง (ขุ.อป.อ. 2/5/232)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :138 }