เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. สีหาสนิยวรรค] 8. รัฏฐปาลเถราปทาน
[104] ผู้นี้จักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ 50 ชาติ
และจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 58 ชาติ
[105] ในกัปที่ 100,000 (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[106] ผู้นี้ถูกกุศลมูลตักเตือนแล้วจักจุติจากเทวโลก
ไปบังเกิดในตระกูลที่เจริญ มีโภคสมบัติมาก ในขณะนั้น
[107] ภายหลัง เขาถูกกุศลมูลตักเตือนแล้วจักบวช
มีนามว่ารัฏฐบาล เป็นสาวกของพระศาสดา
[108] เขามีจิตเด็ดเดี่ยวเพื่อบำเพ็ญเพียร
เป็นผู้สงบระงับ ไม่มีอุปธิ
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวง เป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[109] ข้าพเจ้าลุกขึ้นแล้วสละโภคสมบัติออกบวช
ข้าพเจ้าไม่มีความรักในโภคสมบัติ ดุจในก้อนเขฬะ
[110] ข้าพเจ้ามีความเพียรสำหรับนำพาธุระ
เป็นความเพียรที่นำมาซึ่งธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะ
ข้าพเจ้าทรงร่างกายซึ่งมีในภพสุดท้าย
อยู่ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[111] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8
และอภิญญา 6 ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระรัฏฐบาลเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
รัฏฐปาลเถราปทานที่ 8 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :117 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [2. สีหาสนิยวรรค] 9. โสปากเถราปทาน
9. โสปากเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโสปากเถระ
(พระโสปากเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[112] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ได้เสด็จมายังสำนักของข้าพเจ้า
ผู้กำลังทำความสะอาดเงื้อมเขาอยู่ที่ภูเขาสูงเทือกประเสริฐ
[113] ข้าพเจ้าเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จเข้ามา
ปูลาดเครื่องปูลาด
ถวายอาสนะดอกไม้แด่พระพุทธเจ้าผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่
[114] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ได้ประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้แล้ว
ทรงทราบคติของข้าพเจ้าแล้วตรัสถึงสภาวะไม่เที่ยงว่า
[115] สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้น
และความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป
ความเข้าไปสงบสังขารเหล่านั้น1เป็นความสุข
[116] พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้สิ่งทั้งปวง2
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน ทรงเป็นนักปราชญ์
ครั้นตรัสดังนี้แล้วได้เสด็จเหาะขึ้นไปบนท้องฟ้าดังพญาหงส์
[117] ข้าพเจ้าละทิฏฐิของตนแล้ว เจริญอนิจจสัญญา
(กำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่งสังขาร)
ครั้นเจริญอนิจจสัญญาได้วันเดียว ก็สิ้นชีวิต ณ ที่นั้นเอง

เชิงอรรถ :
1 ความเข้าไปสงบสังขารเหล่านั้น ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.อป.อ. 2/115/33)
2 สิ่งทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมทั้งหมด (ขุ.อป.อ. 2/116/33)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :118 }