เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 1. พุทธาปทาน
[69] ทิศทั้ง 10 ในโลก เมื่อคนเดินไป
ย่อมไม่มีที่สิ้นสุด ในส่วนแห่งทิศนั้น
พุทธเขตก็นับจำนวนไม่ถ้วน(เหมือนกัน)
[70] แสงสว่างตามปกติของเรา(ในสมัยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ)
ปรากฏเปล่งรังสีออกมาเป็นคู่ ๆ
ข่ายรัศมีมีอยู่ในระหว่างนี้ แสงสว่างมีอย่างไพบูลย์
[71] ขอประชาชนทั้งหมดในโลกธาตุประมาณเท่านี้
จงมองเห็นเรา ทั้งหมดจงดีใจ ทั้งหมดจงคล้อยตามเรา
[72] เราตีกลองอมฤต1 มีเสียงไพเราะกังวาน
ขอประชาชนในระหว่างนี้ จงฟังเสียงที่ไพเราะ(ของเรา)
[73] เมื่อตถาคตบันดาลเมฆฝนคือพระธรรมให้ตกลง
ขอชนทั้งหมดจงเป็นผู้ไม่มีอาสวะ
บรรดาผู้ที่ประชุมกันอยู่ในที่นี้
ผู้มีคุณต่ำสุด จงเป็นพระโสดาบัน
[74] เราให้ทานที่ควรให้แล้ว บำเพ็ญศีลบารมีอย่างเต็มเปี่ยม
สำเร็จเนกขัมมบารมีแล้วบรรลุสัมโพธิญาณอันสูงสุด2
[75] เราสอบถามบัณฑิตทั้งหลาย (บำเพ็ญปัญญาบารมีแล้ว)
บำเพ็ญวิริยบารมีแล้ว
สำเร็จขันติบารมีแล้วบรรลุสัมโพธิญาณอันสูงสุด
[76] เราบำเพ็ญอธิษฐานบารมีแล้ว
บำเพ็ญสัจจบารมีแล้ว สำเร็จเมตตาบารมีแล้ว
บรรลุสัมโพธิญาณอันสูงสุด
[77] เรามีใจสม่ำเสมอในอารมณ์ทั้งปวง
คือทั้งในลาภ ในความเสื่อมลาภ ในความสุข ในความทุกข์

เชิงอรรถ :
1 กลองอมฤต หมายถึงกลองสวรรค์ (ขุ.อป.อ. 1/72/134)
2 สัมโพธิญาณอันสูงสุด หมายถึงมรรคญาณ 4 (ขุ.อป.อ. 1/74/134)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :11 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 1. พุทธาปทาน
ในการนับถือและในการถูกดูหมิ่น (บำเพ็ญอุเบกขาบารมีแล้ว)
บรรลุสัมโพธิญาณอันสูงสุด
[78] ท่านทั้งหลาย จงเห็นความเกียจคร้านเป็นสิ่งน่ากลัว
แต่จงเห็นความเพียรเป็นสิ่งปลอดภัย
จงบำเพ็ญเพียรกันเถิด
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
[79] ท่านทั้งหลาย จงเห็นการวิวาทกันเป็นสิ่งน่ากลัว
แต่จงเห็นการไม่วิวาทกันเป็นสิ่งปลอดภัย
จงสมัครสมานสามัคคีกัน พูดจาไพเราะกันเถิด
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
[80] ท่านทั้งหลาย จงเห็นความประมาทเป็นสิ่งน่ากลัว
แต่จงเห็นความไม่ประมาทเป็นสิ่งปลอดภัย
จงเจริญมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 เถิด1
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
[81] พระพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์จำนวนมากมาประชุมพร้อมกัน
ท่านทั้งหลายจงกราบไหว้พระพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์เถิด
[82] ตามที่กล่าวมานี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอจินไตย2
ธรรมของพระพุทธเจ้าก็เป็นอจินไตย
สำหรับผู้ที่เลื่อมใสในอจินไตย ย่อมมีวิบากเป็นอจินไตย ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อจะทรงให้พระอานนทเถระทราบพุทธจริตของ
พระองค์จึงได้ตรัสธรรมบรรยายชื่อว่าพุทธาปทานิยะ (การประกาศประวัติในอดีต-
ชาติของพระพุทธเจ้า) ด้วยประการฉะนี้
พุทธาปทานจบ

เชิงอรรถ :
1 มรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ (ขุ.อป.อ. 1/80/135)
2 อจินไตย หมายถึงสภาวะที่พ้นความคิดของตนที่จะคิดได้ คือไม่อยู่ในวิสัยที่จะคิดได้ (ขุ.อป.อ. 1/82/136)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :12 }