เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 1. พุทธาปทาน
[61] เราเหยียดมือไปในที่ใด ๆ จะเป็นบนพื้นดิน
ภูเขา อากาศ ในน้ำ และในป่า ก็ตาม
ยานพาหนะทุกอย่างจากที่นั้น ๆ ย่อมเข้ามาหาเรา
[62] เราเหยียดมือไปในที่ใด ๆ จะเป็นบนพื้นดิน
ภูเขา อากาศ ในน้ำ และในป่า ก็ตาม
ดอกไม้ทุกอย่างจากที่นั้น ๆ ย่อมเข้ามาหาเรา
[63] เราเหยียดมือไปในที่ใด ๆ จะเป็นบนพื้นดิน
ภูเขา อากาศ ในน้ำ และในป่า ก็ตาม
เครื่องประดับทุกอย่างจากที่นั้น ๆ ย่อมเข้ามาหาเรา
[64] เราเหยียดมือไปในที่ใด ๆ จะเป็นบนพื้นดิน
ภูเขา อากาศ ในน้ำ และในป่า ก็ตาม
หญิงสาวทั้งมวลจากที่นั้น ๆ ย่อมเข้ามาหาเรา
[65] เราเหยียดมือไปในที่ใด ๆ จะเป็นบนพื้นดิน
ภูเขา อากาศ ในน้ำ และในป่า ก็ตาม
น้ำผึ้งและน้ำตาลกรวดจากที่นั้น ๆ ย่อมเข้ามาหาเรา
[66] เราเหยียดมือไปในที่ใด ๆ จะเป็นบนพื้นดิน
ภูเขา อากาศ ในน้ำ และในป่า ก็ตาม
ของขบเคี้ยวทุกอย่างจากที่นั้น ๆ ย่อมเข้ามาหาเรา
[67] เราให้ทานอย่างดีแก่คนไร้ทรัพย์
คนเดินทางไกล คนขอทาน และคนหลงทาง
เพื่อต้องการจะบรรลุสัมโพธิญาณอันประเสริฐ
[68] เราทำให้ภูเขาศิลาล้วนบันลือ
ทำให้ภูเขาหนาทึบกระหึ่ม
ทำให้มนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลกร่าเริง
จะเป็นพระพุทธเจ้าในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :10 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [1. พุทธวรรค] 1. พุทธาปทาน
[69] ทิศทั้ง 10 ในโลก เมื่อคนเดินไป
ย่อมไม่มีที่สิ้นสุด ในส่วนแห่งทิศนั้น
พุทธเขตก็นับจำนวนไม่ถ้วน(เหมือนกัน)
[70] แสงสว่างตามปกติของเรา(ในสมัยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ)
ปรากฏเปล่งรังสีออกมาเป็นคู่ ๆ
ข่ายรัศมีมีอยู่ในระหว่างนี้ แสงสว่างมีอย่างไพบูลย์
[71] ขอประชาชนทั้งหมดในโลกธาตุประมาณเท่านี้
จงมองเห็นเรา ทั้งหมดจงดีใจ ทั้งหมดจงคล้อยตามเรา
[72] เราตีกลองอมฤต1 มีเสียงไพเราะกังวาน
ขอประชาชนในระหว่างนี้ จงฟังเสียงที่ไพเราะ(ของเรา)
[73] เมื่อตถาคตบันดาลเมฆฝนคือพระธรรมให้ตกลง
ขอชนทั้งหมดจงเป็นผู้ไม่มีอาสวะ
บรรดาผู้ที่ประชุมกันอยู่ในที่นี้
ผู้มีคุณต่ำสุด จงเป็นพระโสดาบัน
[74] เราให้ทานที่ควรให้แล้ว บำเพ็ญศีลบารมีอย่างเต็มเปี่ยม
สำเร็จเนกขัมมบารมีแล้วบรรลุสัมโพธิญาณอันสูงสุด2
[75] เราสอบถามบัณฑิตทั้งหลาย (บำเพ็ญปัญญาบารมีแล้ว)
บำเพ็ญวิริยบารมีแล้ว
สำเร็จขันติบารมีแล้วบรรลุสัมโพธิญาณอันสูงสุด
[76] เราบำเพ็ญอธิษฐานบารมีแล้ว
บำเพ็ญสัจจบารมีแล้ว สำเร็จเมตตาบารมีแล้ว
บรรลุสัมโพธิญาณอันสูงสุด
[77] เรามีใจสม่ำเสมอในอารมณ์ทั้งปวง
คือทั้งในลาภ ในความเสื่อมลาภ ในความสุข ในความทุกข์

เชิงอรรถ :
1 กลองอมฤต หมายถึงกลองสวรรค์ (ขุ.อป.อ. 1/72/134)
2 สัมโพธิญาณอันสูงสุด หมายถึงมรรคญาณ 4 (ขุ.อป.อ. 1/74/134)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 32 หน้า :11 }