เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [1. อิตถีวิมาน] 4. มัญชิฏฐกวรรค 12. รัชชุมาลาวิมาน
[837] ณ ที่นั้น ดิฉันได้เหลือบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้เป็นจอมปราชญ์
ทรงเกื้อกูลสัตว์โลกทั้งมวล ผู้ไม่มีโรคภัย
ประทับนั่งเข้าฌานอยู่ที่โคนต้นไม้
[838] ดิฉันนั้นเกิดความสังเวช ขนลุกชูชันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน คิดว่า
ใครหนอมาอาศัยอยู่ในป่านี้ เป็นมนุษย์หรือเทวดากันแน่
[839] เพราะได้เห็นพระพุทธองค์ผู้น่าเลื่อมใส ควรแก่การยินดี
เสด็จออกจากป่า แล้วมาสู่ความไม่มีป่า(คือกิเลส)
ใจของดิฉันก็เลื่อมใสด้วยคิดเห็นว่า
ท่านผู้นี้คงจะมิใช่คนธรรมดาสามัญเป็นแน่
[840] ท่านผู้นี้คุ้มครองอินทรีย์ได้แล้ว ยินดีในฌาน มีใจไม่วอกแวก
จะต้องเป็นพระพุทธเจ้าผู้ทรงเกื้อกูลสัตว์โลกทั้งมวลเป็นแน่
[841] ท่านผู้นี้เป็นที่น่าเกรงขาม
ผู้ซึ่งบุคคลที่ปราศจากความเพียรและความมาดหมาย
ทำให้ทรงชื่นชมได้ยาก ดังราชสีห์ซึ่งเป็นสัตว์อยู่ถ้ำ น่าเกรงขาม
ยากที่ใครจะทำให้ชื่นชมและยากที่จะได้พบเห็น เหมือนดอกมะเดื่อ
[842] พระตถาคตเจ้าพระองค์นั้น ได้ตรัสเรียกดิฉันด้วยพระวาจาที่นุ่มนวลว่า
รัชชุมาลาและรับสั่งกับดิฉันว่า เธอจงถึงตถาคตเป็นที่พึ่งเถิด
[843] ดิฉันฟังพระดำรัสอันปราศจากโทษ ประกอบด้วยประโยชน์
หมดจด ละเอียดอ่อน นุ่มนวลไพเราะ
เป็นเครื่องบรรเทาความโศกเศร้าทั้งปวงเสียได้นั้น จึงเกิดจิตเลื่อมใส
[844] พระตถาคตผู้ทรงเกื้อกูลสัตว์โลกทุกหมู่เหล่า ทรงทราบว่า
ดิฉันมีจิตเลื่อมใส มีใจบริสุทธิ์ ควรแก่การรับฟัง
แล้วจึงได้ทรงพร่ำสอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :97 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [1. อิตถีวิมาน] 4. มัญชิฏฐกวรรค 12. รัชชุมาลาวิมาน
[845] พระองค์ได้ตรัสสอนดิฉันว่า “นี้คือทุกข์ นี้คือเหตุเกิดทุกข์
นี้คือความดับทุกข์ และนี้คือทางสายตรงให้บรรลุอมตธรรม”1
[846] ดิฉันดำรงอยู่ในพระโอวาทของพระตถาคต ผู้ทรงอนุเคราะห์
เกื้อกูล ทรงฉลาดว่า
“บุคคลได้บรรลุทางคือนิพพานซึ่งเป็นธรรมอันไม่ตาย
สงบระงับ ไม่มีการจุติ”
[847] ดิฉันนั้นมีความภักดีมั่น ไม่หวั่นไหว
เพราะมีความเห็นชอบเป็นปกติ
ด้วยศรัทธาที่หยั่งรากลงแล้ว จึงได้เป็นธิดาที่แท้จริงของพระพุทธองค์
[848] ดิฉันนั้นไม่มีภัย จึงเที่ยวรื่นเริงบันเทิงใจอยู่
ทัดทรงมาลัยทิพย์ ดื่มน้ำหวานที่ทำให้สดชื่น
[849] เหล่าดุริยเทพ 60,000 องค์ ช่วยกันปลุกเร้าดิฉันให้เกิดปีติโสมนัส
ได้แก่ เทพบุตรมีนามว่า อาฬัมพะ คัคคระ ภีมะ สาธุวาที ปสังสยะ
[850] โปกขระและสุผัสสะ เหล่าเทพธิดาน้อย ๆ มีนามว่า
วีณา โมกขา นันทา สุนันทา โสณทินนา สุจิมหิตา
[851] อลัมพุสา มิสสเกสีและบุณฑริกา อนึ่ง เทพกัญญาอีกพวกหนึ่ง
คือเอณีปัสสา สุผัสสา สุภัททาและมุทุวาทินี
[852] ผู้ประเสริฐกว่านางอัปสรทั้งหลาย
ผู้มีหน้าที่ปลุกเร้าให้เกิดปีติโสมนัส
เทวดาเหล่านั้น พอได้เวลาก็เข้ามาหาดิฉัน เสนอด้วยวาจาน่ายินดีว่า
[853] เอาเถอะ พวกเราจักฟ้อนรำ ขับร้อง บำเรอเธอให้รื่นรมย์
สถานที่ที่ดิฉันได้รับในบัดนี้ มิใช่สถานที่สำหรับคนที่ไม่ได้ทำบุญไว้
แต่เป็นสถานที่สำหรับคนที่ได้ทำบุญไว้แล้วเท่านั้น

เชิงอรรถ :
1 เว้นทางสุดโต่ง 2 อย่างแล้วดำเนินตามมรรคอริยสัจจที่เป็นเหตุให้บรรลุอมตธรรม เพราะดำเนินไปตามทาง
ให้บรรลุนิพพาน (ขุ.วิ.อ. 845/248)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :98 }