เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [1. อิตถีวิมาน] 3. ปาริจฉัตตวรรค 10. ปาริจฉัตตกวิมาน
[676] หม่อมฉันใช้ดอกไม้ทั้งหมดที่หญิงรับใช้นำมาจากตระกูลญาติเนือง
นิตย์นั้นเองบูชาที่พระสถูปของพระผู้มีพระภาค
[677] อนึ่ง ในวันอุโบสถ หม่อมฉันมีจิตเลื่อมใส
ได้ถือมาลัยของหอมและเครื่องลูบไล้
ไปบูชาที่พระสถูปของพระผู้มีพระภาคนั้นด้วยมือทั้งสองของตน
[678] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมเทพ
เพราะกรรมที่หม่อมฉันใช้มาลัยบูชาพระสถูป1
หม่อมฉันจึงมีรูปงาม บังเกิดในเทวโลก มีฤทธิ์และอานุภาพเช่นนี้
[679] อนึ่ง การที่หม่อมฉันรักษาศีลเป็นปกติ
จะอำนวยผลเพียงเท่านั้นก็หามิได้
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมเทพ หม่อมฉันมีความหวังว่า
อย่างไรเสีย เราพึงได้เป็นพระสกทาคามี
วิสาลักขิวิมานที่ 9 จบ

10. ปาริจฉัตตกวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่หญิงผู้ใช้มาลัยดอกอโศก
บูชาพระพุทธเจ้า
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพธิดาองค์หนึ่งว่า)
[680] เทพธิดา เธอนำดอกไม้สวรรค์ชื่อปาริจฉัตตกะ
หอมหวน น่ารื่นรมย์
มาร้อยเป็นมาลัยทิพย์ ขับร้องรื่นเริงบันเทิงอยู่
[681] เมื่อเธอนั้นกำลังฟ้อนรำอยู่ เสียงทิพย์น่าฟัง น่ารื่นรมย์ใจ
ย่อมเปล่งออกจากอวัยวะน้อยใหญ่ทุกส่วนสัดของเธอ

เชิงอรรถ :
1 ของพระผู้มีพระภาค (ขุ.วิ.อ. 678/194)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :77 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [1. อิตถีวิมาน] รวมเรื่องวิมานที่มีในวรรค
[682] ทั้งกลิ่นทิพย์หอมระรื่นชื่นใจ
ก็ฟุ้งออกจากอวัยวะน้อยใหญ่ทุกส่วนสัดของเธอ
[683] เมื่อเธอสั่นไหวกายไปมา เสียงเครื่องประดับที่ช้องผม
ก็เปล่งเสียงดังไพเราะ น่าฟัง ดุจดังเสียงดนตรีเครื่องห้า
[684] อนึ่ง ต่างหูเพชรต้องลมสั่นไหว ก็ส่งเสียงดังไพเราะ
น่าฟัง เช่นกับเสียงดนตรีเครื่องห้า
[685] แม้มาลัยบนศีรษะของเธอ มีกลิ่นหอมระรื่นชื่นใจ
ก็ส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศ ดุจต้นอุโลก1
[686] เธอสูดดมกลิ่นหอมระรื่นนั้น ทั้งได้เห็นรูปอันมิใช่ของมนุษย์
เทพธิดา อาตมาถามเธอแล้ว ขอเธอจงบอกเถิดว่า
นี้เป็นผลของกรรมอันใดเล่า
(เทพธิดานั้นตอบว่า)
[687] ดิฉันได้น้อมนำมาลัยดอกอโศกซึ่งมีเกสรงามเลื่อมประภัสสร
มีสีสด มีกลิ่นหอมฟุ้ง ไปน้อมบูชาพระพุทธเจ้า
[688] ดิฉันนั้นครั้นทำกุศลกรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญแล้ว
จึงสร่างโศก หมดโรคภัย มีความสุข รื่นเริงบันเทิงใจอยู่เป็นนิตย์
ปาริจฉัตตกวิมานที่ 10 จบ

รวมเรื่องวิมานที่มีในวรรคนี้ คือ

1. อุฬารวิมาน 2. อุจฉุทายิกาวิมาน
3. ปัลลังกวิมาน 4. ลตาวิมาน
5. คุตติลวิมาน 6. ทัททัลลวิมาน
7. เปสวตีวิมาน 8. มัลลิกาวิมาน
9. วิสาลักขิวิมาน 10. ปาริจฉัตตกวิมาน

ปาริจฉัตตกวรรคที่ 3 จบ

เชิงอรรถ :
1 ไม้ชนิดหนึ่ง เนื้อไม้สีขาว (ใช้ทำยาได้) เวลามีดอกส่งกลิ่นหอมไปทั่วทุกทิศ (ขุ.วิ.อ. 685/199)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :78 }