เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [16. มหานิบาต] 1. สุเมธาเถรีคาถา
[469] ลูกรู้อยู่ว่าร่างกายนั้นปฏิกูลเหมือนหมู่หนอน
ถูกฉาบไว้ด้วยเนื้อและเลือด
เป็นที่อยู่ของหมู่หนอน เป็นเหยื่อของแร้งกา
ทำไมทูลกระหม่อมจึงพระราชทานซากศพ
แก่พระราชาพระองค์นั้นเพคะ
[470] ไม่ช้าร่างกายที่ปราศจากวิญญาณ
ถูกหมู่ญาติซึ่งพากันเกลียดชัง
ทอดทิ้งไปเหมือนท่อนไม้ที่เขาก็พากันนำไปทิ้งป่าช้า
[471] มารดาบิดาของตนยังเกลียดชัง
พากันเอาซากศพนั้นไปทิ้งให้เป็นอาหารของสัตว์อื่น ๆ ในป่าช้า
กลับมาก็ต้องอาบน้ำดำเกล้า
จะกล่าวไปใยถึงหมู่ชนทั่ว ๆ ไปเล่า
[472] หมู่ชนยึดถือแล้วในร่างกายอันเปื่อยเน่า
เป็นซากศพ ไม่มีแก่นสาร เป็นร่างของกระดูกและเอ็น
เต็มไปด้วยน้ำลาย น้ำตา และอุจจาระ
[473] ผู้ใดพึงชำแหละร่างกายนั้นกลับข้างในมาไว้ข้างนอก
ผู้นั้นก็จะทนกลิ่นเหม็นของร่างกายนั้นไม่ได้
แม้มารดาของตนก็ยังเกลียดชัง
[474] ลูกพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายว่า
ขันธ์ ธาตุ อายตนะอันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว
มีชาติเป็นมูลเหตุ เป็นทุกข์ เพราะเหตุไร
จะพึงปรารถนาการวิวาห์เล่าเพคะ
[475] หอก 300 เล่มใหม่เอี่ยมจะพึงตกต้องที่กายทุก ๆ วัน
และทิ่มแทงอยู่ถึง 100 ปี ยังประเสริฐกว่า
หากว่าความสิ้นทุกข์ จะพึงมีได้ด้วยอาการอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :632 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [16. มหานิบาต] 1. สุเมธาเถรีคาถา
[476] ผู้ใดรู้แจ้งคำสอนของพระศาสดาอย่างนี้แล้ว
พึงยอมรับการทิ่มแทง ด้วยอาการอย่างนั้นยังประเสริฐกว่า
เพราะสังสารวัฎของคนเหล่านั้น
ซึ่งถูกชราพยาธิและมรณะเบียดเบียนบ่อย ๆ ยาวนาน
[477] ในจำพวกเทวดา มนุษย์ กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน
หมู่อสุรกาย เปรต และสัตว์นรก
การทำร้ายกันยังปรากฏอยู่หาประมาณมิได้
[478] สำหรับสัตว์ที่เศร้าหมองอยู่ในอบาย
ยังมีการทำร้ายกันอยู่มากในนรก
แม้ในเทวดาทั้งหลายก็ช่วยไม่ได้
สุขอื่นนอกจากสุขคือนิพพานไม่มีเลย
[479] ชนเหล่าใดขวนขวายในพระธรรมวินัยของพระทศพล
มีความขวนขวายน้อย พากเพียรเพื่อละชาติและมรณะ
ชนเหล่านั้นย่อมถึงนิพพาน
[480] ทูลกระหม่อมพ่อ เพคะ วันนี้แหละลูกจักออกบวช
โภคทรัพย์ทั้งหลายที่ไม่มีแก่นสารจะมีประโยชน์อะไร
ลูกเบื่อหน่ายกามทั้งหลายแล้ว
ทำให้เสมอด้วยรากสุนัข ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน”
[481] เจ้าหญิงสุเมธานั้นกำลังกราบทูลพระชนกอยู่อย่างนี้
พระเจ้าอนิกรัตผู้ได้รับพระราชทานพระนางสุเมธานั้น
มีข้าราชบริพารหนุ่มแวดล้อมแล้ว
ก็เสด็จมาเพื่อเข้าสู่วิวาห์เมื่อเวลากระชั้นชิด
[482] ภายหลัง เจ้าหญิงสุเมธาทราบว่าพระเจ้าอนิกรัตเสด็จมา
จึงใช้พระขรรค์ตัดพระเกศาอันดำขลับที่รวบไว้ อ่อนสลวย
ทรงปิดปราสาท เข้าปฐมฌาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :633 }