เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [16. มหานิบาต] 1. สุเมธาเถรีคาถา
[455] พวกคนเขลาเหล่านั้นมีปัญญาทราม ไม่มีความคิด
ยินดีแล้วในทุกข์และเหตุให้เกิดทุกข์
ไม่รู้สัจธรรม 4 ที่พระอริยะแสดงอยู่ จึงรู้อริยสัจไม่ได้
[456] ทูลกระหม่อมแม่เจ้าขา คนเขลาเหล่าใดเมื่อไม่รู้สัจจะทั้งหลาย
ที่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทรงแสดงไว้แล้ว ยังชื่นชมภพ พอใจเกิด
ในหมู่เทพ คนเขลาเหล่านั้นมีอยู่เป็นจำนวนมากในโลกนี้
[457] ความเกิดในหมู่เทพในภพที่ไม่เที่ยง เป็นสภาวะที่ไม่ยั่งยืน
พวกคนเขลาย่อมไม่สะดุ้งกลัวต่อการที่จะต้องเกิดบ่อย ๆ
[458] สัตว์ทั้งหลายย่อมได้อบาย 4 กันง่าย
ส่วนคติ 2 ได้กันลำบาก
เหล่าสัตว์ที่เข้าถึงอบาย ในนรกไม่มีการบวชนะเพคะ
[459] ขอพระชนกพระชนนีทั้ง 2 พระองค์
ทรงอนุญาตให้ลูกบวชในพระธรรมวินัยของพระทศพลเถิดเพคะ
ลูกจักขวนขวายน้อย พากเพียรเพื่อละชาติและมรณะ
[460] กายที่มีโทษคือกายที่ไร้สาระซึ่งพวกคนเขลาชื่นชมนักหนา
จะมีประโยชน์อะไรในภพ
ขอทั้ง 2 พระองค์ทรงอนุญาตเถิด
ลูกจักบวชเพื่อดับภวตัณหา1
[461] ความอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายลูกได้แล้ว
อักขณะ2ลูกก็เว้นแล้ว
ขณะลูกก็ได้แล้ว
ลูกจะไม่พึงทำลายศีลและพรหมจรรย์ตลอดชีวิต”

เชิงอรรถ :
1 ความอยากในภพ
2 ไม่ใช่เวลา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :630 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [16. มหานิบาต] 1. สุเมธาเถรีคาถา
[462] เจ้าหญิงสุเมธากราบทูลพระชนกพระชนนีอย่างนี้ว่า
“ตราบใดที่ลูกยังเป็นคฤหัสถ์จักไม่ยอมรับประทานอาหาร
ถึงจะตายก็ยอมเพคะ”
[463] พระชนนีของพระนางสุเมธานั้นทรงเป็นทุกข์ ทรงกันแสง
และพระชนกของนางมีพระพักตร์นองด้วยอัสสุชล
ทั้ง 2 พระองค์ทรงพยายามเกลี้ยกล่อมพระนางสุเมธานั้น
ซึ่งฟุบลงที่พื้นดิน ณ พื้นปราสาทว่า
[464] “ลุกขึ้นเถิด ลูกรัก จะเศร้าโศกไปทำไม
พ่อแม่ได้ยกลูกให้พระเจ้าอนิกรัต
ผู้ทรงสง่างามในพระนครวารณวดีแล้ว
[465] ลูกจักเป็นเอกอัครมเหสีของพระเจ้าอนิกรัต
ศีล พรหมจรรย์ บรรพชาทำได้ยากนะลูกรัก
[466] อำนาจในแคว้นของพระเจ้าอนิกรัต ทรัพย์
ความเป็นใหญ่ โภคะ สุขในราชสกุลนี้
ถ้าลูกปรารถนาแล้ว ก็จักอยู่ในเงื้อมมือของลูก
ลูกก็ยังเป็นสาว จงบริโภคกามทั้งหลายเถิด
ลูกจงวิวาห์เสียนะลูกนะ”
[467] ลำดับนั้น เจ้าหญิงสุเมธากราบทูลพระชนกพระชนนีนั้น
อย่างนี้ว่า “อำนาจเป็นต้นเช่นนี้จงอย่ามีเลย
เพราะภพหาสาระมิได้ ลูกขอบวชหรือตายเท่านั้น
แต่ลูกไม่ยอมวิวาห์แน่นอน
[468] กายที่เปื่อยเน่าเหมือนหมู่หนอน ไม่สะอาด
มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป น่าสะพรึงกลัว
เป็นดุจถุงหนัง บรรจุศพ เต็มด้วยของไม่สะอาด
ไหลออกอยู่เนือง ๆ ซึ่งคนเขลายึดถืออยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :631 }