เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [13. วีสตินิบาต] 3. จาปาเถรีคาถา
[283] สมณะเหล่านั้นไม่เก็บสะสมทรัพย์สมบัติไว้ในยุ้งฉาง
ในหม้อ และในกระเช้า แสวงหาแต่อาหารที่สำเร็จแล้ว
เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก
[284] สมณะเหล่านั้นไม่รับเงิน ทอง และรูปิยะ
เลี้ยงชีพด้วยปัจจัยที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า
เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก
[285] สมณะเหล่านั้นบวชมาจากต่างสกุลกัน
และต่างชนบทกัน ก็รักซึ่งกันและกัน
เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก
(บิดากล่าวกับเราว่า)
[286] ลูกโรหิณีผู้เจริญ ลูกเกิดมาในสกุล
เพื่อประโยชน์แก่พวกเราแท้หนอ
ลูกมีศรัทธา มีความเคารพแรงกล้า
ในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
[287] เพราะลูกรู้จักพระรัตนตรัยนั้นว่า
เป็นบุญเขตอันยอดเยี่ยม
สมณะเหล่านั้นคงจะรับทักษิณาทานของพ่อบ้างนะ
[288] เพราะว่า ยัญคือบุญที่เราตั้งไว้แล้วในสมณะเหล่านั้น
คงจะมีผลไพบูลย์แก่พวกเราแน่
(เรากล่าวกับบิดาว่า) ถ้าคุณพ่อกลัวทุกข์
ถ้าคุณพ่อเกลียดทุกข์
[289] ขอคุณพ่อ โปรดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์
ผู้คงที่ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกเถิด
จงสมาทานศีล ข้อนั้นจะเป็นประโยชน์แก่คุณพ่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :602 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [13. วีสตินิบาต] 3. จาปาเถรีคาถา
(บิดากล่าวกับเราว่า)
[290] พ่อขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์
ผู้คงที่ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก ขอสมาทานศีล
ข้อนั้นจะเป็นประโยชน์แก่พ่อ
[291] เมื่อก่อน พ่อเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระพรหม
วันนี้ พ่อเป็นพราหมณ์ พ่อได้วิชชา 3 มีความสวัสดี
จบเวท และเป็นผู้ล้างบาปได้แล้ว

3. จาปาเถรีคาถา
ภาษิตของพระจาปาเถรี
(พระจาปาเถรีได้รวบรวมคาถาที่อุปกาชีวกและตนกล่าวด้วยการเปล่งอุทาน
ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
(อุปกาชีวกกล่าวว่า)
[292] เมื่อก่อน ตัวเรา(เป็นปริพาชก)ถือไม้เท้า
เดี๋ยวนี้ เรานั้นกลายเป็นพรานล่าเนื้อไปเสียแล้ว
ไม่อาจข้ามจากตัณหาและเปือกตมอันร้ายกาจ1
ไปสู่ฝั่งโน้นได้เลย
[293] เมื่อก่อน นางจาปาดูหมิ่นเราว่าเป็นคนมัวเมานัก
จึงกล่อมลูกเย้ยหยันเสียดสี
เราจะตัดความเกี่ยวข้องด้วยจาปาไปบวชเสีย
(เรากล่าวว่า)
[294] อย่าโกรธเลย ท่านมหาวีระ อย่าโกรธเลย ท่านมหามุนี
เพราะว่า ผู้ถูกความโกรธครอบงำแล้ว ไม่มีความบริสุทธิ์ดอก
แล้วตบะจะมีแต่ที่ไหนเล่า

เชิงอรรถ :
1 กาม (ความใคร่, ความกำหนัด) ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) (ขุ.เถรี.อ. 292/285)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :603 }