เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [11. ทวาทสกนิบาต] 1. อุปลวัณณาเถรีคาถา
(มารเห็นพระเถรีนั่งอยู่ที่พักกลางวัน ได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[230] ท่านเข้าไปใกล้ต้นไม้ที่มีดอกบานสะพรั่งถึงยอด
ยืนอยู่แต่ผู้เดียวที่โคนต้นไม้
และแม้เพื่อนไร ๆ ของท่านก็ไม่มี
ท่านไม่กลัวความสามหาวของพวกนักเลงเจ้าชู้หรือ
(พระอุบลวรรณาเถรีเมื่อจะคุกคามมาร จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[231] ต่อให้นักเลงเจ้าชู้ตั้งแสนคนเช่นนี้ห้อมล้อม
แม้เพียงขนของเราก็ไม่พึงหวั่นไหว ไม่สะเทือน
มาร ท่านผู้เดียวจะทำอะไรเราได้
[232] เรานั้น หายตัวก็ได้ เข้าท้องท่านก็ได้
ยืนอยู่ระหว่างคิ้วของท่านก็ได้
เรายืนอยู่ ท่านก็มองไม่เห็น
[233] เรามีจิตเชี่ยวชาญ อบรมอิทธิบาทดีแล้ว
เราทำอภิญญา 6 ให้แจ้งแล้ว
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
[234] กามทั้งหลายเปรียบด้วยหอกและหลาว
เป็นเขียงรองสับขันธ์ทั้งหลาย
บัดนี้ เราไม่มีความยินดีในกามที่ท่านพูดถึง
[235] กำจัดความเพลิดเพลินในกามทั้งปวงได้แล้ว
ทำลายกองแห่งความมืดได้แล้ว
มารผู้ชั่วช้าเลวทราม ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า
ท่านถูกเรากำจัดแล้ว
ทวาทสกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :593 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [12. โสฬสกนิบาต] 1. ปุณณาเถรีคาถา
12. โสฬสกนิบาต
1. ปุณณาเถรีคาถา
ภาษิตของพระปุณณาเถรี
พระปุณณาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[236] เราเป็นคนตักน้ำ กลัวต่อภัยคืออาชญาของนาย
ถูกภัยคือวาจาและโทสะของนายบีบคั้นแล้ว
จึงลงตักน้ำเป็นประจำ แม้หน้าหนาว
[237] ท่านพราหมณ์ ท่านกลัวอะไรนะ จึงลงอาบน้ำเป็นประจำ
ทั้งมีตัวสั่นเทา ประสบความหนาวอย่างหนัก
(พราหมณ์กล่าวตอบด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[238] แม่ปุณณาผู้เจริญ ก็ท่านรู้อยู่ว่า
ฉันกำลังทำกุศลกรรมอันจะปิดกั้นบาปกรรม
ที่ตัวได้ก่อไว้ ยังจะสอบถามอีก
[239] ผู้ใดไม่ว่าแก่หรือหนุ่มก่อบาปกรรมไว้
แม้ผู้นั้นย่อมพ้นจากบาปกรรมได้อย่างสิ้นเชิงก็เพราะการอาบน้ำ
(พระปุณณาเถรีกล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[240] ใครหนอช่างไม่รู้ มาบอกความนี้แก่ท่านซึ่งไม่รู้ว่า
คนจะพ้นจากบาปกรรมได้ก็เพราะการอาบน้ำ
[241] พวกกบ เต่า งู จระเข้ และสัตว์เหล่าอื่น
ที่เที่ยวหากินอยู่ในน้ำทั้งหมดก็คงพากันไปสวรรค์แน่แท้
[242] คนฆ่าแกะ คนฆ่าสุกร ชาวประมง พรานเนื้อ
โจร เพชฌฆาต และคนที่ก่อบาปกรรมอื่น ๆ แม้เหล่านั้น
ก็จะพึงพ้นจากบาปกรรมได้เพราะการอาบน้ำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :594 }