เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [20. สัฏฐินิบาต] 1. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
[1196] นรกที่ทุสสิมาร1 ได้ทำร้ายพระวิธุรอัครสาวก
และพระกกุสันธสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วได้ไปหมกไหม้อยู่ เป็นเช่นไร
[1197] คือ นรกที่มีขอเหล็กเป็นร้อย
ทั้งให้เกิดทุกขเวทนาเฉพาะตนทั่วถึงหมด
นรกที่ทุสสิมารได้ทำร้ายพระวิธุระองค์อัครสาวก
และพระกกุสันธสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วได้ไปหมกไหม้อยู่ เป็นเช่นนี้
[1198] ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
ย่อมรู้กรรมและผลกรรมนี้ได้โดยประจักษ์แจ้ง
กัณหมาร ท่านทำร้ายภิกษุเช่นนั้นเข้า จะต้องได้รับทุกข์
[1199] วิมานทั้งหลายที่อยู่ท่ามกลางมหาสมุทร
อยู่ได้ตลอดกัป มีสีดังแก้วไพฑูรย์งดงาม
แสงไฟสว่างดุจกองไฟที่ลุกโพลง
ทั้งเพียบพร้อมด้วยรัศมี มีหมู่นางอัปสรจำนวนมาก
มีผิวพรรณต่างกันฟ้อนรำอยู่
[1200] ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
ย่อมรู้วิมานนี้ได้โดยประจักษ์แจ้ง
กัณหมาร ท่านทำร้ายภิกษุเช่นนั้นเข้าจะต้องได้รับทุกข์
[1201] ภิกษุใดอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้ไปแล้ว
ภิกษุสงฆ์เป็นอันมากก็เห็นอยู่
ทำปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดาให้ไหวด้วยปลายนิ้วเท้า
[1202] ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
ย่อมรู้วิมานนี้ได้โดยประจักษ์แจ้ง
กัณหมาร ท่านทำร้ายภิกษุเช่นนั้นเข้า จะต้องได้รับทุกข์

เชิงอรรถ :
1 ทุสสิมาร คือมารผู้ชอบประทุษร้าย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :535 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [20. สัฏฐินิบาต] 1. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
[1203] ภิกษุใดมีพลังฤทธิ์กล้าแข็ง ได้ทำเวชยันตปราสาทให้ไหวด้วย
ปลายนิ้วเท้า ทั้งทำเทพทั้งหลายให้สลดใจ
[1204] ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
ย่อมรู้วิมานนี้ได้โดยประจักษ์แจ้ง
กัณหมาร ท่านทำร้ายภิกษุเช่นนั้นเข้า จะต้องได้รับทุกข์
[1205] ภิกษุนั้นใดไต่ถามท้าวสักกเทวราชที่เวชยันตปราสาทว่า
มหาบพิตร ท้าวเธอทรงทราบวิมุตติซึ่งเป็นที่สิ้นตัณหาบ้างไหม
ท้าวสักกเทวราชถูกถามปัญหา ได้ทรงพยากรณ์ตามแนวเทศนาที่
พระศาสดาทรงแสดงแล้วแก่ภิกษุนั้น
(พระมหาโมคคัลลานเถระได้พูดทักทายท้าวมหาพรหมนั้นด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[1206] ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
ย่อมรู้วิมุตติเป็นที่สิ้นตัณหานี้ได้โดยประจักษ์แจ้ง
กัณหมาร ท่านทำร้ายภิกษุเช่นนั้นเข้า จะต้องได้รับทุกข์
[1207] ภิกษุใดยืนอยู่ที่สุธรรมสภาสอบถามท้าวมหาพรหมว่า
ท่านผู้เจริญ แม้วันนี้ ท่านยังมีความเห็นอยู่อย่างเมื่อก่อน
หรือท่านยังเห็นอยู่ว่ารัศมีของพระผู้มีพระภาค
พร้อมทั้งสาวกพวยพุ่งรุ่งเรืองยิ่งนัก
[1208] ครั้นท้าวมหาพรหมถูกถามปัญหาแล้ว
ได้พยากรณ์ตามแนวเทศนาที่พระศาสดาทรงแสดงแล้วแก่ภิกษุนั้นว่า
ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้นิรทุกข์
ข้าพเจ้าไม่ได้มีความเห็นอย่างเมื่อก่อนแล้ว
[1209] ข้าพเจ้าเห็นว่า รัศมีของพระผู้มีพระภาค
พร้อมทั้งสาวกเป็นไปล่วงเลยรัศมีในพรหมโลก
วันนี้ ข้าพเจ้านั้นละทิ้งคำพูดของพระเจ้า
ผู้เห็นว่า เราเป็นผู้เที่ยง มีความยั่งยืน เสียได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :536 }