เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [20. สัฏฐินิบาต] 1. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
20. สัฏฐินิบาต
1. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
ภาษิตของพระมหาโมคคัลลานเถระ
(พระมหาโมคคัลลานเถระได้กล่าวสอนภิกษุทั้งหลายด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[1149] เราทั้งหลายถือการอยู่ป่าเป็นวัตร
ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
พอใจอาหารในบาตรที่ได้มาด้วยการเที่ยวแสวงหา
เป็นผู้มีจิตมั่นคงด้วยดีภายใน
จึงทำลายเสนามัจจุราชได้
[1150] เราทั้งหลายถือการอยู่ป่าเป็นวัตร
ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
พอใจอาหารในบาตรที่ได้มาด้วยการเที่ยวแสวงหา
จะกำจัดเสนามัจจุราชได้
เหมือนช้างทำลายเรือนไม้อ้อ
[1151] เราทั้งหลายถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร
มีความเพียรต่อเนื่อง
พอใจในอาหารที่อยู่ในบาตรด้วยการเที่ยวแสวงหาได้มา
เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยดีภายใน
พึงทำลายเสนามัจจุราชได้
[1152] เราทั้งหลายถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร
มีความเพียรต่อเนื่อง
พอใจในอาหารที่อยู่ในบาตรด้วยการเที่ยวแสวงหาได้มา
จะกำจัดเสนามัจจุราชได้
เหมือนช้างทำลายเรือนไม้อ้อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :528 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [20. สัฏฐินิบาต] 1. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
(พระเถระหวังจะสอนหญิงแพศยา จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[1153] น่าติ กระท่อมคือเรือนร่างสำเร็จด้วยโครงกระดูก
ฉาบทาด้วยเนื้อ รึงรัดไปด้วยเส้นเอ็น
เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น
เธอยังมัวยึดถือเรือนร่างที่สัตว์อื่นหมายปองว่าเป็นของเรา
[1154] ในร่างกายซึ่งเหมือนถุงเต็มด้วยคูถ
มีหนังหุ้มห่อไว้ของเธอผู้เปรียบเหมือนนางปีศาจ
มีฝีที่อก มีช่อง 9 ช่อง หลั่งของไม่สะอาดออกอยู่เป็นนิตย์
[1155] เรือนร่างของเธอที่เนื่องมาแต่การปฏิบัติโดยชอบ
มีช่อง 9 ช่อง ส่งกลิ่นเหม็น
ท่านผู้เห็นภัยในสังสารวัฏย่อมเว้นเสียห่างไกล
เหมือนคนรักความสะอาดเห็นคูถแล้วก็หลีกเสียห่างไกล
[1156] หากชนพึงรู้ถึงเรือนร่างของเธอเหมือนที่ฉันรู้
ก็จะพึงเว้นเสียห่างไกล เหมือนคนรักความสะอาด
เห็นหลุมคูถในฤดูฝนก็หลีกเสียห่างไกล
(หญิงแพศยาเกิดความสลดใจ จึงได้กล่าวตอบท่านด้วยภาษิตนี้ว่า)
[1157] ข้าแต่ท่านสมณะผู้มีความเพียรมาก
เรื่องนี้เป็นจริงอย่างที่ท่านพูด
แต่ผู้คนบางพวกยังจมอยู่ในร่างกายนี้
เหมือนโคแก่จมอยู่ในปลัก
(พระเถระกล่าวตอบหญิงแพศยาด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[1158] ผู้ใดประสงค์จะใช้ขมิ้น
หรือแม้เครื่องย้อมอย่างอื่น ย้อมอากาศ
การกระทำของผู้นั้นเป็นเหตุให้เกิดความลำบากใจเท่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :529 }