เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [19. ปัญญาสนิบาต] 1. ตาลปุฏเถรคาถา
[1136] ภูเขา มหาสมุทร แม่น้ำคงคาเป็นต้น
แผ่นดิน ทิศใหญ่ทั้ง 4 ทิศน้อยทั้ง 4
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง และภพทั้ง 3
ล้วนเป็นสภาพไม่เที่ยง มีแต่ถูกเบียดเบียนอยู่เสมอ
จิต ท่านไปที่ไหนเล่าจึงจะยินดีความสุข
[1137] จิต เรามั่นคงแล้ว ท่านจะทำอะไรได้
เราไม่ยอมตกอยู่ภายใต้อำนาจท่าน
คนไม่พึงแตะต้องถุงหนัง มีปากสองข้าง
น่าตินัก ร่างกายที่เต็มไปด้วยของไม่สะอาดต่าง ๆ
หลั่งของไม่สะอาดออกจากปากแผลทั้ง 9
[1138] ท่านเข้าไปสู่เรือนคือถ้ำที่เงื้อมเขาและยอดเขา
ที่สวยงามตามธรรมชาติ ซึ่งฝูงหมูป่าและฝูงกวางอาศัยอยู่
และป่าที่ฝนตกรดใหม่ ๆ นั้น จะยินดีภาวนา ณ ที่นั้น
[1139] ฝูงนกยูงมีขนคอเขียวสวยงาม มีหงอนงาม
มีปีกงาม ทั้งปกคลุมด้วยขนปีกสวยงาม
ส่งสำเนียงเสียงร้องก้องกังวานไพเราะจับใจนั้น
จะช่วยท่านผู้บำเพ็ญฌานอยู่ในป่าให้รื่นรมย์ได้
[1140] เมื่อฝนตก หญ้างอกยาวประมาณ 4 นิ้ว
เมื่อป่าไม้ผลิดอกออกช่อ งามคล้ายก้อนเมฆ
เราเป็นเหมือนต้นไม้จะนอนบนยอดหญ้าในระหว่างภูเขา
เครื่องลาดหญ้านั้นอ่อนนุ่มจะเป็นเหมือนที่นอนสำลีสำหรับเรา
[1141] เราจะทำท่านไว้ในอำนาจให้ได้เหมือนคนผู้เป็นใหญ่
จะพอใจด้วยปัจจัยตามที่ได้ จะทำท่านไว้ในอำนาจให้ได้
เหมือนคนไม่เกียจคร้าน เหมือนกระสอบใส่แมวที่มัดไว้ดีแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :525 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [19. ปัญญาสนิบาต] 1. ตาลปุฏเถรคาถา
[1142] เราจะทำท่านไว้ในอำนาจให้ได้เหมือนคนผู้เป็นใหญ่
จะพอใจด้วยปัจจัยตามที่ได้
จะใช้ความพยายามนำท่านมาไว้ในอำนาจให้ได้
เหมือนนายควาญช้างผู้ชาญฉลาด
ใช้ขอสับช้างตกมันให้อยู่ในอำนาจตน
[1143] เราพร้อมกับท่านผู้ฝึกฝนดีแล้ว มั่นคง
สามารถดำเนินไปถึงทางที่ปลอดโปร่ง
ซึ่งท่านผู้ตามรักษาจิตทั้งหลายได้ดำเนินไปแล้วทุกสมัย
เหมือนนายสารถีผู้ฝึกม้าสามารถดำเนินไปถึงภูมิภาค
ที่ปลอดภัยได้ด้วยม้าอาชาไนยที่มีใจซื่อตรง
[1144] เราจะผูกท่านไว้ที่อารมณ์กรรมฐานด้วยกำลังภาวนา
เหมือนนายควาญช้างใช้เชือกที่เหนียวผูกช้างไว้ที่เสาตะลุง
จิตที่เราคุ้มครองดี อบรมดีแล้วด้วยสติ
จะเป็นจิตอันตัณหาในภพทั้งปวงอาศัยไม่ได้
[1145] ท่านตัดเหตุเกิดคืออายตนะที่แล่นไปผิดทางด้วยปัญญา
ข่มมันเสียด้วยความเพียร
ให้ตั้งมั่นอยู่ในทางถูก
เห็นแจ้งทั้งความเกิดและความดับ
แล้วจะเป็นทายาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีวาทะเป็นเลิศ
[1146] จิต ท่านชักนำเราให้เป็นไปตามอำนาจของความเข้าใจผิด 4 อย่าง
เหมือนคนจูงเด็กชาวบ้านวิ่งวนไปฉะนั้น
ท่านน่าจะคบหาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้เพียบพร้อมด้วยพระมหากรุณาธิคุณ
ผู้ตัดเครื่องผูกคือสังโยชน์เสียได้
เป็นพระมหามุนี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :526 }