เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [19. ปัญญาสนิบาต] 1. ตาลปุฏเถรคาถา
[1112] เรายอมสละญาติมิตรอันเป็นที่รักในสกุล
ความยินดีในการเล่น และกามคุณในโลกได้หมดแล้ว เข้ามาถึงป่านี้
ท่านช่างไม่ยินดีกับเราเสียเลยนะจิต
[1113] เราเมื่อพิจารณาเห็นว่า เพราะจิตนี้เป็นของเราเท่านั้น
ฉะนั้น ท่านจึงไม่ใช่ของผู้อื่น การร้องไห้รำพันจะมีประโยชน์อะไร
ในเวลาทำสงครามกับกิเลสมาร จิตทั้งหมดนี้มีแต่หวั่นไหวดังนี้
จึงได้ออกบวชแสวงหาอมตบท
[1114] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐเหนือเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นจอมท้าวสักกเทวราช เป็นจอมสารถีฝึกนระได้
ตรัสสุภาษิตไว้ว่า จิตนี้กวัดแกว่งเหมือนลิง
ทั้งห้ามได้แสนยาก เพราะไม่ปราศจากความกำหนัด
[1115] เพราะเหล่าปุถุชนที่ยังไม่รู้เท่าทัน
พัวพันอยู่ในกามทั้งหลายที่งดงาม มีรสหวาน ชวนให้รื่นรมย์ใจ
พวกเขาแสวงหาภพใหม่ ก่อแต่สิ่งที่ไร้ประโยชน์
ถูกจิตทำให้เหินห่างจากสุข นำไปไว้ในนรก ย่อมประสบทุกข์
[1116] จิต เมื่อก่อน ท่านแนะนำเราว่า
ท่านมีเสือเหลืองและเสือโคร่งห้อมล้อมอยู่ในป่า
ที่มีเสียงนกยูงและนกกระไนร่ำร้อง
จงละความห่วงใยในร่างกาย อย่าได้พลาดหวังเสียเลย
[1117] จิต เมื่อก่อน ท่านแนะนำเราว่า
ท่านจงเจริญฌาน อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ และสมาธิภาวนา
ทั้งบรรลุวิชชา 3 ในพระพุทธศาสนาให้ได้
[1118] จิต เมื่อก่อน ท่านแนะนำเราว่า
ท่านจงเจริญมรรคมีองค์ 8 ที่นำสัตว์ออกจากวัฏฏทุกข์
หยั่งถึงความสิ้นทุกข์ทั้งมวล ชำระล้างกิเลสได้หมดสิ้น
เพื่อบรรลุนิพพานให้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :521 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [19. ปัญญาสนิบาต] 1. ตาลปุฏเถรคาถา
[1119] จิต เมื่อก่อน ท่านแนะนำเราว่า
ท่านจงพิจารณาเห็นเบญจขันธ์โดยอุบายที่แยบคายว่า เป็นทุกข์
จงละเหตุให้เกิดทุกข์ และจงทำความสิ้นทุกข์ในอัตภาพนี้แหละ
ให้ได้
[1120] จิต เมื่อก่อน ท่านแนะนำเราว่า
ท่านจงพิจารณาเบญจขันธ์โดยอุบายที่แยบคายว่า
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์
ว่า ว่างเปล่า ไม่มีตัวตน
และว่า ต้องวิบัติไป เป็นผู้ฆ่า
จงดับมโนวิจารทางใจเสียให้ได้
[1121] จิต เมื่อก่อน ท่านแนะนำเราว่า
ท่านจงปลงผมและโกนหนวดแล้ว ถือเพศสมณะ
มีรูปร่างแปลก ถูกเขาสาปแช่ง
ถือบาตรเที่ยวภิกษาไปตามตระกูลทั้งหลาย
จงพากเพียรในคำสอนของพระศาสดา
ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ให้ได้
[1122] จิต เมื่อก่อน ท่านแนะนำเราว่า
ท่านจงสำรวมระวังให้ดี เมื่อเที่ยวไปในระหว่างตรอก
อย่ามีใจเกี่ยวข้องในตระกูล
และกามารมณ์ทั้งหลายเที่ยวไป
เหมือนดวงจันทร์วันเพ็ญที่ปราศจากเมฆฉะนั้น
[1123] จิต เมื่อก่อน ท่านแนะนำเราว่า
ท่านจงยินดีในธุดงคคุณทั้ง 5 คือ
(1) ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร
(2) ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
(3) ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร
(4) ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
(5) ถือการไม่นอนเป็นวัตรทุกเมื่อให้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :522 }