เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [18. จัตตาฬีสนิบาต] 1. มหากัสสปเถรคาถา
[1059] เราได้อาศัยฝาเรือนฉันคำข้าวนั้นอยู่
ขณะฉัน หรือฉันเสร็จแล้ว เราไม่มีความรังเกียจเลย
[1060] ภิกษุใดไม่ดูหมิ่นบริโภคปัจจัย 4 นี้ คือ
(1) อาหารบิณฑบาตที่จะต้องลุกขึ้นยืนรับ (2) บังสุกุลจีวร
(3) เสนาสนะคือโคนไม้ (4) ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า
ภิกษุนั้นแหละควรอยู่ในทิศทั้ง 4 ได้
[1061] ในปัจฉิมวัย ภิกษุบางพวกเมื่อขึ้นภูเขาย่อมลำบาก
แต่กัสสปะซึ่งเป็นทายาทของพระพุทธเจ้า
มีสติสัมปชัญญะตั้งมั่น แข็งแรงด้วยกำลังฤทธิ์ ย่อมขึ้นได้สบาย
[1062] กัสสปะซึ่งหมดอุปาทาน ละความหวาดกลัวภัยได้แล้ว
กลับจากบิณฑบาตแล้ว ได้ขึ้นภูเขา เข้าฌานอยู่
[1063] กัสสปะซึ่งหมดอุปาทาน เมื่อสัตว์ทั้งหลายถูกไฟไหม้อยู่
ก็ดับไฟเสียได้ กลับจากบิณฑบาตแล้ว ได้ขึ้นภูเขา เข้าฌานอยู่
[1064] กัสสปะซึ่งหมดอุปาทาน ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ
กลับจากบิณฑบาตแล้ว ได้ขึ้นภูเขา เข้าฌานอยู่
[1065] ภูมิภาคเรียงรายไปด้วยแนวต้นกุ่ม
น่ารื่นรมย์ใจ กึกก้อง ด้วยเสียงช้างร้อง น่ารื่นรมย์
ล้วนแล้วด้วยภูเขา ย่อมทำเราให้ยินดี
[1066] ภูเขาเหล่านั้นมีสีเขียวดุจเมฆ งดงาม
มีน้ำเย็น ทรงความสะอาดไว้
ดารดาษด้วยแมลงค่อมทอง ย่อมทำเราให้รื่นรมย์ใจ
[1067] ภูเขาเหล่านั้นเปรียบดังปราสาท
เขียวชะอุ่มสูงตระหง่านเทียมเมฆ
กึกด้วยเสียงช้างร้อง น่ารื่นรมย์
ย่อมทำเราให้ยินดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :513 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [18. จัตตาฬีสนิบาต] 1. มหากัสสปเถรคาถา
[1068] ภูเขาเหล่านั้นที่ฝนตกรดใหม่ ๆ มีพื้นน่ารื่นรมย์
ทั้งเหล่าฤๅษีก็อาศัยอยู่ เซ็งแซ่ด้วยเสียงนกยูงร้อง
ย่อมทำเราให้รื่นรมย์ใจ
[1069] สถานที่เช่นนั้นเหมาะแก่เราผู้มีใจเด็ดเดี่ยวมุ่งเข้าฌาน
เหมาะแก่เราผู้เป็นภิกษุมีใจเด็ดเดี่ยว มุ่งประโยชน์
[1070] เหมาะแก่เราผู้เป็นภิกษุ มีใจเด็ดเดี่ยว มุ่งความผาสุก
เหมาะแก่เรา ผู้คงที่ มีใจเด็ดเดี่ยว มั่นคง
[1071] ภูเขาเหล่านั้นมีสีเสมอด้วยดอกผักตบ
คล้ายกับว่าหมู่เมฆบนท้องฟ้าปกคลุม
คลาคล่ำไปด้วยฝูงนกนานาชนิด ย่อมทำเราให้รื่นรมย์ใจ
[1072] ภูเขาเหล่านั้นไม่มีหมู่คนพลุกพล่าน
มีแต่หมู่เนื้ออาศัยอยู่
คลาคล่ำไปด้วยฝูงนกนานาชนิด
ย่อมทำเราให้รื่นรมย์ใจ
[1073] ภูเขาหินอันกว้างใหญ่ไพศาลมีน้ำไหลใสสะอาด
มีฝูงค่างและฝูงเนื้อฟานคลาคล่ำ
ดารดาษไปด้วยน้ำและสาหร่าย ย่อมทำเราให้รื่นรมย์ใจยิ่งนัก
[1074] ความยินดีด้วยดนตรีมีเครื่อง 5 เช่นนั้น
ย่อมไม่มีแก่เราผู้มีจิตตั้งมั่น
พิจารณาเห็นธรรมโดยชอบ
[1075] ภิกษุไม่ควรทำงานก่อสร้างให้มาก
พึงเว้นห่างหมู่ชน ไม่พึงขวนขวายเพื่อลาภผล
ภิกษุผู้ปฏิบัติเช่นนั้นเป็นผู้ขวนขวาย
ในลาภผลและติดในรสอาหาร
ย่อมละทิ้งประโยชน์ที่จะนำความสุขมาให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :514 }