เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [18. จัตตาฬีสนิบาต] 1. มหากัสสปเถรคาถา
18. จัตตาฬีสนิบาต
1. มหากัสสปเถรคาถา
ภาษิตของพระมหากัสสปเถระ
(พระมหากัสสปเถระได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[1054] บุคคลไม่พึงมีหมู่คณะแวดล้อมเที่ยวไป
เพราะเป็นเหตุทำใจให้ฟุ้งซ่าน ยากแก่การได้สมาธิ
การสงเคราะห์ชนต่าง ๆ เป็นความลำบาก
บุคคลเห็นโทษด้วยประการฉะนี้แล้ว
ไม่พึงชอบใจการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
[1055] มุนีไม่พึงเกี่ยวข้องตระกูลทั้งหลาย
เพราะเป็นเหตุทำใจให้ฟุ้งซ่าน ยากแก่การได้สมาธิ
ผู้ขวนขวายเกี่ยวข้องกับตระกูลนั้น
ย่อมติดในรส ละทิ้งประโยชน์อันจะนำความสุขมาให้
[1056] ด้วยว่านักปราชญ์มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น
กล่าวการไหว้และการบูชาในตระกูลทั้งหลายว่า เป็นเปือกตม
เป็นลูกศรอันละเอียดซึ่งถอนขึ้นได้ยาก
เป็นสักการะที่คนชั่วละได้ยาก
[1057] เราลงจากเสนาสนะแล้วได้เข้าไปบิณฑบาตยังนคร
ได้เข้าไปยืนอยู่ใกล้ ๆ บุรุษโรคเรื้อนซึ่งกำลังบริโภคอาหารนั้นด้วย
ความเอื้อเฟื้อ
[1058] บุรุษโรคเรื้อนนั้นใช้มือข้างที่หงิกงอ
น้อมคำข้าวเข้ามาถวายเรา
และเมื่อเขาใส่คำข้าวลง
นิ้วมือของเขาเน่าเฟะก็ขาดตกลงในบาตรของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :512 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [18. จัตตาฬีสนิบาต] 1. มหากัสสปเถรคาถา
[1059] เราได้อาศัยฝาเรือนฉันคำข้าวนั้นอยู่
ขณะฉัน หรือฉันเสร็จแล้ว เราไม่มีความรังเกียจเลย
[1060] ภิกษุใดไม่ดูหมิ่นบริโภคปัจจัย 4 นี้ คือ
(1) อาหารบิณฑบาตที่จะต้องลุกขึ้นยืนรับ (2) บังสุกุลจีวร
(3) เสนาสนะคือโคนไม้ (4) ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า
ภิกษุนั้นแหละควรอยู่ในทิศทั้ง 4 ได้
[1061] ในปัจฉิมวัย ภิกษุบางพวกเมื่อขึ้นภูเขาย่อมลำบาก
แต่กัสสปะซึ่งเป็นทายาทของพระพุทธเจ้า
มีสติสัมปชัญญะตั้งมั่น แข็งแรงด้วยกำลังฤทธิ์ ย่อมขึ้นได้สบาย
[1062] กัสสปะซึ่งหมดอุปาทาน ละความหวาดกลัวภัยได้แล้ว
กลับจากบิณฑบาตแล้ว ได้ขึ้นภูเขา เข้าฌานอยู่
[1063] กัสสปะซึ่งหมดอุปาทาน เมื่อสัตว์ทั้งหลายถูกไฟไหม้อยู่
ก็ดับไฟเสียได้ กลับจากบิณฑบาตแล้ว ได้ขึ้นภูเขา เข้าฌานอยู่
[1064] กัสสปะซึ่งหมดอุปาทาน ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ
กลับจากบิณฑบาตแล้ว ได้ขึ้นภูเขา เข้าฌานอยู่
[1065] ภูมิภาคเรียงรายไปด้วยแนวต้นกุ่ม
น่ารื่นรมย์ใจ กึกก้อง ด้วยเสียงช้างร้อง น่ารื่นรมย์
ล้วนแล้วด้วยภูเขา ย่อมทำเราให้ยินดี
[1066] ภูเขาเหล่านั้นมีสีเขียวดุจเมฆ งดงาม
มีน้ำเย็น ทรงความสะอาดไว้
ดารดาษด้วยแมลงค่อมทอง ย่อมทำเราให้รื่นรมย์ใจ
[1067] ภูเขาเหล่านั้นเปรียบดังปราสาท
เขียวชะอุ่มสูงตระหง่านเทียมเมฆ
กึกด้วยเสียงช้างร้อง น่ารื่นรมย์
ย่อมทำเราให้ยินดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :513 }