เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [17. ติงสนิบาต] 3. อานนทเถรคาถา
(พระอานนทเถระได้ฟังพุทธดำรัสนั้นแล้ว ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[1041] พระศาสดาผู้มีพระจักษุทรงประทานพระวโรกาส
ไม่ทรงห้ามชนหมู่มากซึ่งเป็นชาวต่างรัฐต่างถิ่น
ที่พากันมาไม่ทันเข้าเฝ้า
[1042] เมื่อเราเป็นเสขบุคคลอยู่ 25 ปี กามสัญญา1มิได้เกิดขึ้น
ท่านจงมองเห็นธรรมว่าเป็นธรรมดีงาม
[1043] เมื่อเราเป็นเสขบุคคลอยู่ 25 ปี โทสสัญญา2มิได้เกิดขึ้น
ท่านจงมองเห็นธรรมว่าเป็นธรรมดีงาม
[1044] เราได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคด้วยเมตตากายกรรม
ดุจพระฉายาที่ติดตามพระองค์เป็นเวลา 25 ปี
[1045] เราได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคด้วยเมตตาวจีกรรม
ดุจพระฉายาที่ติดตามพระองค์เป็นเวลา 25 ปี
[1046] เราได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคด้วยเมตตามโนกรรม
ดุจพระฉายาที่ติดตามพระองค์เป็นเวลา 25 ปี
[1047] เมื่อพระพุทธองค์เสด็จจงกรม
เราได้จงกรมตามเบื้องพระปฤษฎางค์ของพระองค์
เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ ญาณได้เกิดขึ้นแก่เรา
[1048] เรายังเป็นเสขะมีกิจที่ต้องทำ ยังไม่ได้บรรลุอรหัต
แต่พระศาสดาผู้ทรงอนุเคราะห์เรา ปรากฏว่าปรินิพพานเสียแล้ว
[1049] เวลานั้น(เรา)ได้มีความสะพรึงกลัว และขนพองสยองเกล้า
ในเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยพระคุณอย่างประเสริฐ
โดยอาการทั้งปวง เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว

เชิงอรรถ :
1 ความกำหนดหมายในความใคร่
2 ความกำหนดหมายในความโกรธ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :510 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [17. ติงสนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
(พระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลายเมื่อจะสรรเสริญพระอานนทเถระ จึงได้
กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[1050] พระอานนทเถระ เป็นพหูสูต ทรงธรรม
รักษาคลังธรรมของพระพุทธเจ้าผู้แสวงคุณอันยิ่งใหญ่
เป็นดวงตาของชาวโลกทั้งมวล ปรินิพพานเสียแล้ว
[1051] พระอานนทเถระเป็นพหูสูต ทรงธรรม
รักษาคลังธรรมของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
เป็นดวงตาของชาวโลกทั้งมวล กำจัดความมืดในโลกที่มืดมนได้
[1052] พระอานนทเถระ มีคติ1 มีสติ มีธิติ2 แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
และทรงพระสัทธรรมไว้ ได้เป็นบ่อเกิดรัตนะ3
(พระอานนทเถระก่อนจะปรินิพพาน ได้กล่าวภาษิตสุดท้ายว่า)
[1053] เราได้ปรนนิบัติพระศาสดา
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ปลงภาระที่หนักเสียได้ บัดนี้ไม่มีการเกิดอีก
ติงสนิบาต จบ

รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ
1. พระปุสสเถระ 2. พระสารีบุตรเถระ
3. พระอานนทเถระ
ในตึงสนิบาตนี้ มีพระเถระที่ระบุไว้ 3 รูป
และมี 105 ภาษิต ฉะนี้แล

เชิงอรรถ :
1 ญาณคือความหยั่งรู้ (ขุ.เถร.อ. 2/1052/471)
2 ปัญญาเครื่องทรงจำ (ขุ.เถร.อ. 2/1052/471)
3 พระสัทธรรม (ขุ.เถร.อ. 2/1052/471)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :511 }